KBank มาเเล้ว! เปิดตัว “Eatable” แพลตฟอร์มฟรีช่วยร้านอาหาร ระบบสั่งทานที่ร้าน-ส่งเดลิเวอรี่

ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบโดยตรงกับ “ธุรกิจร้านอาหาร” ทั้งเรื่องรายได้ การดำเนินการ พนักงานและการปรับปรุงร้านใหม่ รวมไปถึงการที่ร้านค้าต้องหันมาพึ่งพาบริการฟู้ดเดลิเวอรี่ ตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป แต่อย่างไรก็ตามบรรยากาศการสังสรรค์ “ทานอาหารนอกบ้าน” ยังคงเป็นเสน่ห์สำคัญของร้านอาหาร

สิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์ท้าทายของเหล่าร้านอาหาร ที่ต้องมีการ “ทรานส์ฟอร์เมชั่น” ไปสู่การเป็นร้านอาหารยุค New Normal แบบ “ครบวงจร” ที่ตอบรับลูกค้าทั้งการทานที่ร้านและเดลิเวอรี่

นี่เป็นที่มาของ “Eatable” (อีทเทเบิล) แพลตฟอร์มตัวช่วยจัดการ “ร้านอาหาร” ที่พัฒนาโดย KBTG บริษัทลูกของธนาคารกสิกรไทย (KBank) โดยผู้ประกอบการไม่ต้องโหลดแอป ไม่มีค่าธรรมเนียม และสามารถจัดการระบบหลังบ้านแบบเรียลไทม์ผ่านทางออนไลน์ ส่วนลูกค้าสามารถเลือกอาหาร สั่ง และจ่ายแบบไร้การสัมผัส ที่กำลังจะเปิดตัวเเบบเต็มรูปแบบในเดือนตุลาคมนี้ พร้อมพัฒนาต่อยอดให้นักท่องเที่ยวจีนสั่งอาหารในไทยได้ปลายปีนี้

ผู้บริหาร KBTG ยืนว่า Eatable เป็นแพลตฟอร์มจัดการร้านอาหารที่มีทั้งส่วนบริการในร้าน รับออเดอร์ เรียกพนักงานหรือรับชำระเงิน เเละมีบริการจัดส่งเดลิเวอรี่ โดยจะเน้นไปที่ “ประสบการณ์การทานอาหารที่ร้าน” ไม่ได้เน้นไปที่ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่โดยตรง ซึ่งมีการเเข่งขันอย่างดุเดือดในปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้ มีธนาคารใหญ่อีกเจ้าอย่างไทยพาณิชย์ (SCB) กระโจนข้ามฟากธุรกิจเเบงก์มาลงทุนในธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ เปิดตัวเเอป “Robinhood” ท้าชน Grab, LINE Man, GET เเละ Food Panda โดยตรงเเละชูจุดเด่นไม่เก็บค่า GP

อ่านเพิ่มเติม : เจาะลึกทุกมุมของ Robinhood ไขข้อสงสัยปมค่าส่ง โมเดลธุรกิจเเละเเผนสู้ศึก “ฟู้ดเดลิเวอรี่” 

เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เล่าถึงที่มาของ Eatable ว่า ทางทีมมีโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มเกี่ยวกับร้านอาหารมากนานเเล้ว เตรียมที่จะเปิดตัวมาตั้งเเต่เดือนเมษายน แต่ต้องประสบปัญหาที่ไม่คาดฝันอย่าง COVID-19 เสียก่อน จึงต้องมีการ “รื้อ” เเพลตฟอร์มนี้ทั้งหมด เพื่อเปลี่ยนทิศทางใหม่ให้เข้ากับสถานการณ์ เป็นการสร้างอีโคซีสเต็ม ต่อยอดจาก “เทคโนโลยีแบบไร้สัมผัส” ที่ KBank เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา 

จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในประเด็นการปรับตัวของธุรกิจร้านอาหารเข้าสู่มาตรฐานใหม่ คาดว่า ธุรกิจร้านอาหารในปีนี้จะมีมูลค่าราว 3.8 แสนล้านบาท หดตัวเกือบ 10% จากปีที่ผ่านมา เนื่องจากลูกค้ามีความระมัดระวังตัวในการออกไปทานอาหารนอกบ้าน จากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคบางส่วนได้เปลี่ยนแปลงไป ใช้บริการเดลิเวอรี่ในการสั่งอาหารมาทานที่บ้านหรือที่ทำงานแทนมากขึ้น ร้านอาหารยุคใหม่จะต้องผสมผสานการให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าทั้งที่ทานที่ร้านและเดลิเวอรี่ไปพร้อม ๆ กัน

อย่างไรก็ตาม แม้จะผ่านช่วงแพร่ระบาดหนักมาแล้ว แต่ร้านอาหารก็ยังฟื้นตัวช้ากว่าปีที่ผ่านมาถึง 70% ถือเป็นภาคธุรกิจที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นอย่างมาก

Eatable ไม่ใช่ธุรกิจหลักของเรา เพราะผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าของ KBank คือหัวใจหลักของเรา การช่วยให้พวกเขาอยู่รอด มีรายได้ที่ดี ปรับร้านอาหารไปสู่ดิจิทัลอย่างยั่งยืน จะนำไปสู่การต่อยอดบริการเเละผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของธนาคาร ก็เป็นเป้าหมายของเเพลตฟอร์มนี้เเล้ว” เรืองโรจน์ระบุ

ผู้บริหาร KBTG ไม่เปิดเผยถึงงบประมาณในการลงทุน แต่บอกเพียงว่า “เยอะ” ทั้งในส่วนปฏิบัติการและการประสานงาน แต่ก็ถือว่าคุ้มเพราะ “ถ้าลูกค้าแฮปปี้ เขาก็จะอยู่กับเรานาน” 

จุดเด่นของ Eatable

  • รองรับลูกค้าที่ทานที่ร้านและให้จัดส่ง (Dinein, DineOut & Delivery)
  • รองรับนักท่องเที่ยว มีให้ใช้หลายภาษาทั้งไทย อังกฤษเเละจีน (อนาคตจะมีการเพิ่มอีกหลายภาษา)
  • ใช้งานได้ทันที ไม่ต้องดาวน์โหลดแอปฯ ส่งต่อเป็น URL ไปในหลายโซเชียลมีเดียได้
  • ลูกค้าที่มาทานที่ร้าน เลือกสั่งเมนูที่มีภาพอาหารประกอบ ผ่าน QR Ordering ได้ทันที ไม่ต้องรอพนักงานเสิร์ฟมาบริการ ไม่ต้องสัมผัสเมนูเเบบรูปเล่ม ถ้ามาหลายคน ทุกคนกดสั่งเองได้จากมือถือของตัวเอง รวมบิลเป็นโต๊ะเดียวกันได้
  • หากต้องการสั่งกลับบ้าน กดสั่งผ่าน QR Ordering ไม่ต้องผ่านพนักงาน ไม่ต้องเข้าคิวรอ
  • หากต้องการสั่งเดลิเวอร์รี่ถึงบ้าน จะเป็นการสั่งตรงกับร้านอาหาร โดยทางร้านจะเป็นผู้จัดส่งเองก็ได้ หรือทางร้านจะเลือกวิธีจัดส่งที่คุ้มที่สุดโดย Copy ที่อยู่ลูกค้าไปใส่ในแอปเดลิเวอร์รี่ เช่น Grab, Lalamove, Skootar (ราคาขึ้นอยู่กับเเต่ละผู้ให้บริการ) ซึ่ง Eatable จะคำนวณราคารวม (หักส่วนลดเเละโปรโมชั่น)ให้เลือกเรียบร้อย
  • แจ้งเตือนผ่านไลน์ ตั้งให้แจ้งเตือนด้วย LINE NOTIFY ออเดอร์เข้ามาเมื่อไหร่ รู้ทันที
  • กำหนดเวลารับอาหาร ติดตามสถานะออเดอร์
  • ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนข้อมูลร้านค้า เปลี่ยนเมนูอาหาร เปลี่ยนรูปได้ทันที โดยไม่ต้องรออนุมัติ
  • มีบัญชีสำหรับพนักงาน รองรับการเพิ่มบัญชีแก่พนักงานหน้าร้านให้มีคนช่วยดูแลร้านตอนเจ้าของร้านไม่อยู่
  • ไม่มีค่าธรรมเนียมการใช้บริการ ร้านอาหารนำไปใช้ในร้านได้ฟรี

สำหรับลูกค้าเดลิเวอรี่ สามารถกดลิงก์ที่ร้านอาหารลงไว้ในทุกๆ ช่องทาง แล้วสั่งอาหารผ่านเมนูออนไลน์ พร้อมตัวเลือกในการส่งเดลิเวอรี่ที่เปิดกว้าง ไม่ว่าจะให้คนของร้านไปส่งเองหรือให้ร้านอาหารเป็นผู้เลือกผู้ให้บริการจัดส่งเจ้าที่คุ้มค่าที่สุด ซึ่งจะมีระบบที่ช่วยแนะนำส่วนลดค่าจัดส่งที่เหมาะสม สำหรับให้ร้านอาหารใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อมอบส่วนลดค่าบริการจัดส่งแก่ลูกค้าที่สั่งอาหารโดยตรงกับทางร้าน” 

Eatable มีกำหนดเปิดให้บริการเต็มรูปเเบบในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งตอนนี้มีบริการเปิด Public Beta แล้วที่เว็บไซต์ eatable.kasikornbank.com เพื่อเปิดให้ร้านค้าที่สนใจร่วมลงทะเบียน

ตอนนี้ Eatable ได้เริ่มทดลองใช้กับร้านสุกี้เรือนเพชร และร้าน BEAST&BUTTER และโรงแรมเครือกะตะธานี มีผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ การเลือกผู้ขนส่งที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้สามารถเลือกต้นทุนค่าส่งที่ต่ำลงด้วย ซึ่งเท่าที่ทดสอบแล้ว ต้นทุนค่าส่งอาหารลดลงประมาณ 12.5%

เจ้าของร้าน “สุกี้เรือนเพชร” เปิดเผยว่า เคยได้ใช้เเพลตฟอร์มในรูปเเบบนี้ที่จีน เเต่ตอนนั้นยังไม่มีใครทำเเอปฯ เเบบนี้ในเมืองไทย เเต่พอคิดจะทำระบบด้วยตนเองก็มีค่าใช้จ่ายสูง จึงจัดการร้านในเเบบดั้งเดิมอยู่ จากนั้นพอทาง KBTG มาติดต่อก็เห็นว่าไอเดียตรงกัน จึงนำมาทดลองใช้ในบางสาขา

เบื้องต้นพบว่า ประหยัดกระดาษเเละความผิดพลาดของพนักงานลดลง เนื่องจากเเต่เดิมให้ลูกค้าสั่งโดยการจดเมนูเอง บางครั้งเขียนเเล้วขีดฆ่าหรืออ่านลายมือไม่ออก การสั่งผ่าน QR Ordering แม่นยำกว่า ลดความเสียหายจากการทำออเดอร์ผิด อีกทั้งยังลด “การเดิน” ของพนักงาน ให้พวกเขาไม่เหนื่อยมาก และหันไปโฟกัสกับการดูแลลูกค้าแทน โดยทางลูกค้าก็มีการใช้ Eatable อย่างคล่องเเคล่วเพราะคุ้นชินกับการสั่งอาหารผ่านฟู้ดเดลิเวอรี่ ในช่วงล็อกดาวน์มาแล้ว 

ขณะท่ีเเผนต่อไปของ Eatable จะพัฒนาให้สามารถเชื่อมเข้าสู่บริการรับชำระเงินแบบออนไลน์ได้ในเดือนกันยายนปีนี้ เพื่อให้ลูกค้าสามารถสั่งครบจ่ายจบได้ในช่องทางเดียว และสเต็ปต่อไปหลังจากเปิดตัว 3 เดือนแรกจะมีการพัฒนาไปสู่การให้บริการนอกเหนือจากร้านอาหาร ซึ่งอาจจะเป็นร้านขายของชำ มินิมาร์ทหรือร้านขายของต่างๆ ได้ในอนาคต 

นอกจากนี้จะมีการจะมีการเปิดตัวมินิโปรแกรม “ไคไท่เตี่ยนไช่” (Kai Tai Dian Cai) บริการสั่งอาหารสำหรับนักท่องเที่ยวจีนผ่านแอปวีแชท (WeChat) ในช่วงปลายปีนี้ด้วยเช่นกัน เพื่อรองรับการกลับมาเปิดท่องเที่ยวอีกครั้ง “เรายืนยันว่าโปรเเกรม ไคไท่เตี่ยนไช่ จะเปิดให้ร้านค้าได้ลองใช้ 1 เดือน ก่อนที่จะมีการทำ Travel bubble เเน่นอน” 

ทั้งนี้ การพัฒนาไคไท่เตี่ยนไช่ ผ่านวีเเชทเป็นหนึ่งในการต่อยอดการลงทุน “ฟินเทค” ในจีนของกสิกรไทย โดยก่อนหน้านี้ KBTG ได้เปิดตัว 2 บริษัท KX และ Kai Tai Tech ในเซินเจิ้น ดึงศักยภาพการทำงานรูปแบบสตาร์ทอัพ เพื่อสร้างการเติบโตให้ธนาคารไทย

ผู้บริหาร KBTG ปิดท้ายว่า ไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะมีร้านค้าใช้ Eatable จำนวนเท่าใด แต่หวังว่าจะดึงดูดให้ร้านอาหารมาเข้าร่วมให้มากที่สุด เพราะถือเป็นการลดต้นทุนด้านเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการรายย่อยและร้านอาหารที่มีทุนน้อย ให้สามารถเปลี่ยนแปลงและปรับตัวสู่ยุคดิจิทัลได้ในระยะยาว ซึ่งจะเป็นการพลิกโฉมวงการร้านอาหารไทยเลยทีเดียว…