รับตำแหน่งใหญ่ในเอเชีย สถาปนิกไทย พร้อมพาเอเชียสยายปีกสู่ระดับโลก

สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดพิธีรับมอบตำแหน่งประธานสภาสถาปนิกภูมิภาคเอเชีย (The Architects Regional Council Asia – ARCASIA) ให้กับ นายสถิรัตร์ ตัณฑนันทน์ ที่ปรึกษาสมาคมสถาปนิกสยามฯ ซึ่งถือเป็นสถาปนิกไทยคนแรกที่ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว พร้อมทั้งทำการส่งและรับมอบงานระหว่าง คณะกรรมการบริหารชุดปัจจุบัน และคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ของสภาสถาปนิกภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีสมาชิกทั้งสิ้น 19 ประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางทางด้านสถาปัตยกรรมระดับภูมิภาค เพื่อให้สถาปนิกในกลุ่มภูมิภาคเอเซียได้พบปะแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ทางด้านวิชาชีพสถาปัตยกรรม

นายสถิรัตร์ เปิดเผยว่าในการก้าวเข้ามารับตำแหน่งประธานสภาสถาปนิกภูมิภาคเอเชียนั้น ตนได้มีการนำเสนอแผนการต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่อยู่ในวิชาชีพสถาปนิก โดยเน้นเรื่องของสถาปนิกรุ่นใหม่ (Young Architects) โดยการให้ความรู้และโอกาสทางการศึกษางาน เพื่อให้ได้มาตรฐานระดับสากลให้เร็วที่สุด และการพัฒนาอาคารเขียวอย่างยั่งยืน (Green and Sustainable) นอกเหนือไปจากนโยบายหลักที่ ARCASIA มีอยู่แล้ว ได้แก่ การสนับสนุนทางด้านการศึกษาวิชาชีพสถาปนิก และการสร้างนโยบายให้สถาปนิกมีภาระความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม (Corporate Social Responsibility : CSR)

“สถาปนิกรุ่นใหม่มีจำนวนมาก และต้องการความรู้ทางด้านวิชาชีพสูงมาก จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการสถาปนิกรุ่นใหม่ขึ้นมา แล้วพัฒนาให้ไปสู่ระดับนานาชาติ โดยเราจะให้ทุนสนับสนุนการศึกษาในการเดินทางไปศึกษาดูงานในต่างประเทศ สำหรับปีแรกนี้จะใช้งบประมาณ 200,000 บาท เพื่อเดินทางไปดูงานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเหล็กที่ประเทศญี่ปุ่นเพื่อนำมาใช้ในงานออกแบบ เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมเหล็กที่เข้มแข็ง โดยจะคัดเลือกผู้ที่ชนะการประกวดในแต่ละโซนของ ARCASIA ซึ่งมี 3 โซนคือ เอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องเดินทางไปศึกษางานที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้มาใช้ในการออกแบบทางด้านสถาปัตยกรรมที่สอดคล้องกับบริบทในประเทศของตนเอง

ในส่วนของสถาปนิกรุ่นใหม่ จะมีการสร้างเครือข่ายภายในกลุ่มประเทศสมาชิก ARCASIA ก่อน จากนั้นเราจะสานต่อเครือข่ายนี้ไปที่สถาปนิกรุ่นใหม่ที่อเมริกา และสมาพันธ์สถาปนิกนานาชาติ (Union Internationale des Architectes – UIA) ซึ่งเป็นองค์กรสถาปนิกรุ่นใหม่ทั่วโลก ทำให้สถาปนิกรุ่นใหม่ได้แลกเปลี่ยนข้อมูล หรือโชว์ผลงานในระดับโลกได้ ซึ่งทำให้ ARCASIA มีชีวิตชีวาและกระตือรือร้นมากขึ้น”

นอกจากนี้ประธานสภาสถาปนิกภูมิภาคเอเชีย ยังได้รับเกียรติจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ ให้เป็นที่ปรึกษาในการจัดการประชุมสภาสถาปนิกภูมิภาคเอเซีย ครั้งที่ 36 และการประชุมสัมมนานานาชาติ ครั้งที่ 18 (The 36th ARCASIA Council Meeting & 18th Forum) ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งคาดว่าจะมีสถาปนิกจากทั่วภูมิภาคเอเชียร่วมงานกว่า 1,000 คน โดยจะมีการพูดคุยแบ่งปันความรู้ในหัวข้อ Future of the Past ซึ่งเน้นการอยู่ร่วมกันของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่และวัฒนธรรมโบราณที่เป็นรากเหง้าของเอเชีย รวมไปถึงการศึกษางานเกี่ยวกับการออกแบบเพื่อป้องกันการเกิดภัยพิบัติต่างๆ อาทิ อุทกภัยและแผ่นดินไหวด้วย

“หลักการคือการอยู่ร่วมกับโบราณสถาน  หรือมรดกวัฒนธรรมทางสถาปัตยกรรม  ถือว่าอยุธยาเป็นตัวอย่างที่ดีอันหนึ่ง  ที่เป็นเมืองมรดกโลก  เราจะเห็นว่าการพัฒนาเมืองในปัจจุบัน  อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของเมืองในบางส่วน  เราจึงควรศึกษาว่า เราจะทำอย่างไรจึงจะอยู่ด้วยกันได้อย่างยั่งยืน คือประวัติศาสตร์ไม่เสีย และคนที่อยู่อาศัยก็มีความสุขด้วย ซึ่งตรงนี้จะเป็นประเด็นหลักที่เราคุยกัน เพราะในเอเชียก็มีเมืองอย่างอยุธยาอยู่อีกมาก และสอดคล้องกับอีกหนึ่งเรื่องที่ผมอยากจะทำคือ การพัฒนาอาคารเขียวอย่างยั่งยืน เพราะแต่ละประเทศจะมีเป็นแนวทางในการพัฒนาอาคารที่ประหยัดพลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์โบราณสถานและวัฒนธรรมของเดิมอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องของอาคารเขียวจะเป็นปัจจัยสำคัญในการออกแบบในภูมิภาคเอเชีย  คือคิดว่าเราสามารถสร้างอาคารที่เป็นรูปแบบโมเดิร์นได้ แต่จะทำอย่างไรให้อยู่กับวัฒนธรรมดั้งเดิมของเราได้ด้วย

ในส่วนของภัยพิบัติต่างๆเราก็มองเห็นความสำคัญของตรงนี้ และประเทศในแถบเอเชียที่เจอปัญหาแบบนี้เหมือนกันจนกระทั่งพบการแก้ไขปัญหาที่ถูกจุด ก็จะเข้ามาช่วยกันแลกเปลี่ยนความรู้ต่างๆ เพื่อช่วยเหลือกันและกันอีกด้วย” นายสถิรัตร์กล่าว

ด้าน  สถาปนิก เทียน เป่ย อิง  อดีตประธานสภาสถาปนิกภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า หลังจากที่ส่งมอบตำแหน่งแล้ว ตนก็ยังจะทำหน้าที่ที่ปรึกษาต่อไป เพื่อร่วมพัฒนาเอเชียในทุกๆภาคส่วนไปด้วยกัน คือต้องให้คนในสังคมอยู่ด้วยกันได้ทุกคน

“เราหมายถึงทุกคนจริงๆ ไม่ใช่หมายถึงการพัฒนา หรือช่วยเหลือ แค่ใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่จะดูแลแค่ผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือเด็กเท่านั้น แต่ทุกคนต้องอยู่ด้วยกันได้ อย่างเรื่องน้ำท่วม-แผ่นดินไหว เราก็เริ่มมีการศึกษาและทำงานกันไปแล้ว โดยต้องจัดแบ่งกลุ่มอาคารในเอเชียออกไป 2 กลุ่ม คือ สร้างก่อนการเกิดแผ่นดินไหว และ สร้างหลังจากเกิดแผ่นดินไหวแล้ว เพื่อให้มีการออกแบบอาคารที่เหมาะสมและรองรับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น เป็นต้น โดยให้ประเทศที่มีความรู้ด้านนี้เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาความรู้ส่งผ่านไปยังประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือ” 

นอกจากนี้ นายพิชัย วงศ์ไวศยวรรณ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ยังกล่าวอีกด้วยว่า สมาคมสถาปนิกสยามฯ ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์มาตั้งแต่ต้น ทั้งนี้ไม่ใช่เน้นการอนุรักษ์อาคารเก่าที่ทรงคุณค่าอย่างเดียว แต่จะเน้นเรื่องวัฒนธรรมความเป็นอยู่และการใช้ชีวิตด้วย

“ในเรื่องของกรรมาธิการอนุรักษ์ เราดูแลมานานแทบจะเท่าอายุของสมาคมเลย  มันเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นเรื่องที่จะใกล้ชิดประชาชนคนไทย  เนื่องจากว่ามันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของเรา  เพราะฉะนั้นเราก็มีทีมที่แข็งแรง  ที่คอยดูแลเรื่องเกี่ยวกับงานอนุรักษ์  ทุกปีจะมีการมอบรางวัลด้านการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น และสถาปัตยกรรมดีเด่นทุก  2 ปี สาเหตุที่แจกให้งานอนุรักษ์ทุกปี  เพราะเห็นถึงความเร่งด่วน เนื่องจากว่าอาคารเก่าบางครั้ง  ไม่ได้ถูกดูแลรักษา  ผู้อยู่อาศัยเองอาจจะไม่เข้าใจ  ไม่ทราบว่าอาคารที่เรามีอยู่นี่มันมีคุณค่าเหลือเกิน  เพราะฉะนั้นสมาคมเรามีผู้เชี่ยวชาญ   ผู้ทรงคุณวุฒิ   ช่วยกันดู  ช่วยกันศึกษา แล้วก็ไปพูดคุยกับทางเจ้าของอาคาร  ว่าอาคารคุณสำคัญมาก  แต่ว่าการอนุรักษ์นี่เราไม่ได้มองแค่วัตถุตัวอาคารเฉยๆ  เราต้องอนุรักษ์ในเรื่องของความเป็นอยู่  วัฒนธรรม หรือการใช้ชีวิต  ตอนนี้เราเริ่มมีโครงการที่อนุรักษ์ชุมชน  โดยพยายามทำความเข้าใจกับคนในชุมชนว่า เขามีของมีค่าอยู่นะ  เราจะช่วยเขารักษายังไง  นี่ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญที่เราผนวกเข้ามาในการจัดการประชุมสภาสถาปนิกภูมิภาคเอเซีย ที่อยุธยาปลายปีนี้ด้วย  คนเราต้องเปลี่ยนชีวิต  มีชีวิตเติบโต  ชีวิตทันสมัยขึ้น  แต่ในขณะเดียวกันเราก็มีรากเหง้าของเรา   ถ้าเราทำอาคารสักหลัง แล้วบอกไม่ได้ว่าเป็นวัฒนธรรมของใคร นั่นใช้ไม่ได้แล้ว” นายพิชัยกล่าว