แห่เปิด “คาแร็กเตอร์ คาเฟ่” ขายความฟินด้วยการ์ตูน

ร้านกาแฟยุคนี้ แค่บรรยากาศ และรสชาติกาแฟ อาจไม่พอ ต้องหาจุดขายใหม่ๆ อย่าง “คาแร็กเตอร์ คาเฟ่” ร้านกาแฟเทรนด์ใหม่ ใช้ตัว “การ์ตูน” ยอดฮิตมาเป็น “จุดขาย” ดึงดูดลูกค้า เฮลโล คิตตี้, ชาร์ลี บราวน์ แอนด์ เฟรนด์, มิสเตอร์บีน สร้างความฟินตอบรับไลฟ์สไตล์แชะแล้วแชร์

ธุรกิจร้านกาแฟเป็นอีกหนึ่งอาชีพในฝันของคนยุคใหม่ของคนยุคนี้ หลายคนอยากจับจองเป็นเจ้าของ และขอกินส่วนแบ่งการตลาดมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท แต่เมื่อร้านกาแฟ “บิ๊กเนม” รายใหญ่ยังคงครองตลาดอย่างยาวนาน เช่น สตาร์บัคส์ ทรู คอฟฟี่ ทำให้ผู้เล่นรายใหม่ที่จะเข้ามาในตลาดต้องสร้างจุดเด่นใหม่ๆ ในเส้นทางกาแฟ เพราะอย่าลืมว่าการดื่มกาแฟของผู้บริโภคในปัจจุบัน เหมือนกับการดื่มรสนิยมนั่นเอง

“คาแร็กเตอร์ คาเฟ่” เป็นอีกหนึ่งในทางเลือกของร้านกาแฟ ที่นำเอาคาแร็กเตอร์ตัวการ์ตูนชื่อดังมาสร้างเป็นธีมคอนเซ็ปต์แก่ร้านกาแฟ เพื่อสร้างความแตกต่าง และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ร้าน อย่าง เฮลโล คิตตี้ คาเฟ่, ชาร์ลี บราวน์ คาเฟ่, มิสเตอร์บีน คาเฟ่ รวมถึงเจ้าใหญ่อย่างทรู คอฟฟี่ก็ขอจับคาแร็กเตอร์ไลน์ เฟรนด์เพื่อเปิดไลน์ คาเฟ่เช่นกัน

จุดขายอยู่บรรยากาศ

รภีร์ จักรภีร์ศิริสุข กรรมการบริหาร บริษัท ชาร์ลี แอนด์ เฟรนด์ส จำกัด เจ้าของร้านชาร์ลี บราวน์ คาเฟ่ มองว่า คาแร็กเตอร์ คาเฟ่ เป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงทั้งในแถบเอเชีย และในไทย เพราะมีผู้ประกอบการที่ต้องการทำร้านกาแฟสูงมากในไทย เป็นหนึ่งใน “ดรีมจ็อบ” ที่หลายคนใฝ่ฝันอยากทำ ซึ่งร้านกาแฟเล็กๆ แบบอินเฮาส์ ก็ต้องเน้นจุดขายอีกแบบหนึ่งที่ต่างจากยักษ์ใหญ่ เช่น เรื่องคุณภาพสินค้าเกรดพรีเมียม หรือใช้ในเรื่องของบรรยากาศการตกแต่งร้าน เช่น แต่งร้านแบบวินเทจย้อนยุค ซึ่งลักษณะนี้สามารถเลียนแบบกันได้ไม่ยากเลย แต่เป็นคาแร็กเตอร์ คาเฟ่ ไม่มีใครมาเลียนแบบได้ เพราะมีลิขสิทธิ์อยู่ในมือ และที่สำคัญคนไทยก็ชอบตัวการ์ตูนอยู่แล้วด้วย

นั่นคือที่มาของ ชาร์ลี บราวน์ คาเฟ่ ประเทศไทย เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อกลางปี 2557 ที่ห้างสรรพสินค้าเมกา บางนา ด้วยพื้นที่กว่า 200 ตารางเมตร ด้วยงบลงทุนหลัก 10 ล้านบาท ก่อตั้งโดย “รภีร์ จักรภีร์ศิริสุข” และพาร์ตเนอร์ “วีรชิต จารุธนเดช” ที่ทำการซื้อลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนชุดพีนัทส์จากประเทศสหรัฐอเมริกา และซื้อแฟรนไชส์ร้านอาหารจากประเทศฮ่องกง ด้วยความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของรภีร์ กับความเชี่ยวชาญในการบริหารแบรนดิ้งของพาร์ตเนอร์ ทำให้ทางต้นสังกัดของคาแร็กเตอร์ 65 ปี “ตอบตกลง” อย่างไม่ยากนัก

รภีร์เล่าต่อถึงการเลือกคาแร็กเตอร์ ชาร์ลี บราวน์ เข้ามาทำตลาดในไทยว่า “คาแร็กเตอร์ชาร์ลี บราวน์มีโอกาสทางธุรกิจมากกว่าคาแร็กเตอร์อื่นเพราะ 1. มีตัวละครให้เลือกเยอะมากถึง 9 ตัว ตัวเด่นๆ ที่เป็นที่รู้จักก็คือเจ้าหมาสนูปี้ 2. ตัวละครมีอายุยาวนานถึง 65 ปีแล้ว แสดงว่าเราจะมีลูกค้าตั้งแต่ 1-65 ปี กลุ่มลูกค้าจะกว้างมาก ใน 1 ครอบครัวจะต้องมีใครคนใดคนหนึ่งรู้จักสนูปี้ และ 3. ชาร์ลี บราวน์มีความเป็นกลางสูง ยูนิเซ็กส์ มีทั้งแฟนคลับผู้ชายและผู้หญิง”

จุดเด่นของคาแร็กเตอร์ คาเฟ่นั้น รภีร์มองว่าเป็นในเรื่องของ “ประสบการณ์” ความน่ารักของตัวการ์ตูนเป็นตัวดึงดูด และสร้างการจดจำได้ ซึ่งจะมีพฤติกรรมที่แตกต่างกับร้านกาแฟทั่วไปอย่างสิ้นเชิง โดยที่ร้านกาแฟทั่วไปซึ่งลูกค้าเข้าร้านเพราะ “สินค้า” อยากได้ในรสชาติกาแฟที่เขาอยากกิน

แต่คาแร็กเตอร์ คาเฟ่เป็นในลักษณะที่เขาเข้ามาเพื่อเอา “บรรยากาศ” บางคนเข้ามาครั้งเดียวเพื่อถ่ายรูป และเช็กอินร้านเท่านั้น ในจุดนี้จึงเป็นจุดอ่อนของคาแร็กเตอร์คาเฟ่ ที่หลายแบรนด์ต้องพัฒนา “สินค้า” เพื่อดึงดูดเช่นเดียวกับบรรยากาศ

รภีร์เองก็ต้องทำการบ้านในการศึกษาผู้บริโภคก่อน 1 ปี เพื่อออกแบบเมนูอาหาร และเครื่องดื่ม โดยได้เชฟจาก เลอ กอร์ดอง เบลอ การันตรีสูตรขนม “ธุรกิจอาหารมันอยู่ได้ด้วย Return Customer เราจะไม่หวังแค่ลูกค้าเข้ามากินแล้วถ่ายรูปครั้งสองครั้ง แต่ต้องให้ลูกค้าเขาคิดถึงอาหารและเครื่องดื่มว่ากินแล้วอร่อย กลับมาอีกรอบอาจจะซื้อกลับบ้านก็ได้ เราจึงเน้นเรื่องอาหารและเครื่องดื่มมาก วัตถุดิบเราก็นำเข้าจากต่างประเทศ ตอนนี้มีสัดส่วนของเครื่องดื่ม 50% ขนม 30% และอาหาร 20% ซึ่งเราจะเน้นเครื่องดื่มแบบ Non-Coffee แทน เพราะคอกาแฟยังคงติดแบรนด์ใหญ่อยู่”

แผนธุรกิจในปีนี้จะมีการเปิดสาขาเพิ่มขึ้นอีก ในขนาด 70-100 ตารางเมตร ทั้งรูปแบบร้านใหญ่ และแบบคีออส ยังคงมองทำเลห้างสรรพสินค้าใจกลางเมือง เช่น เอ็มควอเทียร์, สยามพารากอน เพราะจะได้กลุ่มนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นด้วย ในปัจจุบันมีสัดส่วนลูกค้าคนไทย 90% นักท่องเที่ยว 10%

“เฮลโล คิตตี้ คาเฟ่” คาเฟ่ฟรุ้งฟริ้งของคนรักคิตตี้

อีกหนึ่งในคาเฟ่ที่สร้างปรากฏการณ์สำหรับสาวน้อยและสาวใหญ่ในปีที่ผ่านมา นั่นคือ “เฮลโล คิตตี้ คาเฟ่” หรือ “ซานริโอ้ เฮลโล คิตตี้ เฮ้าส์ แบงค็อก” ถือเป็นคาเฟ่เหมียวคิตตี้แห่งแรกของโลกที่เป็นแบบคอนเซ็ปต์ “Complex Cafe” ประกอบไปด้วยคาเฟ่ร้านกาแฟ สปา และขายสินค้าเมอร์ชันไดส์ ด้วยขนาดพื้นที่ 808 ตารางเมตร ที่ห้างสยามสแควร์วัน

โปรเจกต์ระดับ 100 ล้านนี้ บริหารลิขสิทธิ์โดย “บริษัท ดรีมเฮ้าส์ (ประเทศไทย) จำกัด” ที่มีผู้ถือหุ้นด้วยกัน 3 ส่วนคือ 1.กลุ่มสุวรรณกรุ๊ป เจ้าของโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ The Circle 2.ระพีพรรณ เหลืองอร่ามรัตน์ หรือ คุณหรีด เซเลบริตี้ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร และ 3.กลุ่ม Zhake บริหารด้านการตลาด

พิพัฒน์ ละเอียดอ่อน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดรีม เฮ้าส์ (ประเทศไทย) จำกัด มองว่า เวลานี้เทรนด์ต่างประเทศก็ไปทางนี้หมดแล้ว โดยเรียกว่า “คอนเซ็ปต์ คาเฟ่” คือคาเฟ่ที่มีคอนเซ็ปต์เฉพาะตัว อย่างในเกาหลีจะมีคาเฟ่ที่เกี่ยวกับดารา นักร้อง หรือคาเฟ่จักรยาน ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน สำหรับคาแร็กเตอร์ คาเฟ่ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของคอนเซ็ปต์คาเฟ่ โดยการใช้คาแร็กเตอร์ตัวการ์ตูนดึงดูด อย่างเฮลโล คิตตี้ หรือ บาร์บี้ ก็จะดึงดูดสาวๆ หน่อย แต่ตอนนี้ก็มี “กันดัม คาเฟ่” ออกมาแล้ว ก็เป็นอีกสีสันหนึ่งในตลาด

ในปัจจุบันมีคาแร็กเตอร์ คาเฟ่ เปิดขึ้นมากมายในตลาด พิพัฒน์มองว่า ไม่มีการแย่งลูกค้าในตลาดกันแน่นอน เนื่องจากแต่ละร้านจะมีแฟนคลับที่ชื่นชอบตัวการ์ตูนเป็นของตัวเอง สอง-ทำเลที่ตั้ง และสาม-คอนเซ็ปต์ของอาหารว่าจับกลุ่มเป้าหมายกลุ่มไหน เช่น อาหารแบบเด็ก-วัยรุ่น หรืออาหารผู้ใหญ่ที่มีราคาและมีระดับหน่อย

ทั้งนี้ กลุ่มลูกค้าของเฮลโล คิตตี้ คาเฟ่จะเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีอายุ ตั้งแต่กลุ่มนักศึกษาไปจนถึงวัยทำงาน กลุ่มครอบครัว รวมไปถึงนักท่องเที่ยว จะไม่ค่อยเห็นวัยรุ่นอายุ 13-16 ปี มานั่งทานเท่าไหร่ เพราะกลุ่มคนรักคิตตี้จะค่อนข้างมีอายุนิดนึง ตอนนี้กลุ่มลูกค้าคนไทย 70% ชาวต่างชาติ 30%

แผนธุรกิจต่อไป คือ การขยายสาขาไปในแหล่งสถานที่ท่องเที่ยว โดยที่ร้านอาจมีขนาดเล็กลงมาหน่อย หรืออยู่ในรูปแบบคีออส คาดว่าจะได้เปิดบริการภายในปีนี้ ซึ่งยังอยู่ระหว่างวางแผน และเสนอไปที่เจ้าของลิขสิทธิ์อยู่ แต่แผนระยะสั้นจะเป็นการปรับปรุงเรื่องเมนูอาหารให้เข้าที่มากขึ้น โดยคุณหรีด-รพีพรรณ เหลืองอร่ามรัตน์ จะเป็นคนคิดเมนูใหม่ๆ หมุนเวียนโดยตลอด เพื่อเป็นจุดขายให้ลูกค้ากลับมาทานอีก และมีบริการเรื่องจัดส่งเค้กนอกสถานที่ด้วย

จากภาพยนตร์ตลก สู่ร้านกาแฟ “มิสเตอร์บีน คาเฟ่”

มิสเตอร์บีน (Mr. Bean) คาแร็กเตอร์ตลกหน้าตายจากภาพยนตร์ตลกจากเกาะอังกฤษที่หลายคนยังคงประทับใจ ในประเทศไทยได้มี Mr. Bean Coffee Shop ร้านกาแฟที่นำตัวละครตลกมาเป็นคาแร็กเตอร์หลักของร้าน เจ้าของไอเดียโดย 2 พี่น้อง ”อลิส ทอย” และ “สมิทธ์ ทอย” ผู้ซื้อลิขสิทธิ์คาแร็กเตอร์มิสเตอร์บีนจากประเทศอังกฤษมาแล้วมาปั้นเป็นคาเฟ่ร้านกาแฟแห่งแรกของโลก

อลิส ทอย กรรมการบริหาร บริษัท มิสเตอร์บีน คอฟฟี่ จำกัด กล่าวว่า “ร้านนี้เริ่มจากน้องชาย (สมิทธ์ ทอย) อยากเปิดร้านกาแฟ จึงมองหาตัวละครที่เราผูกพัน และโตมาด้วยกัน ซึ่งมิสเตอร์บีนมีความน่าสนใจในหลายประเด็น ทั้งความเป็นสากล ความอมตะ ความเป็นศิลปะ ความเป็นตัวตลก และเมื่อนำมาอยู่ในพื้นที่ร้านกาแฟจะเป็นเรื่องราวน่าสนุกมาก และมิสเตอร์บีนเป็นตัวละครที่หลายคนทั่วโลกคิดถึง ถึงแม้ซีรีส์เรื่องนี้จะหยุดผลิตเป็นสิบปี แต่ก็มีการต่อยอดความเป็นมิสเตอร์บีนผ่านอนิเมชั่นสู่คนรุ่นใหม่ ถือเป็นคาแร็กเตอร์อมตะที่เชื่อมคนหลายรุ่นเข้าด้วยกัน การนำคาแร็กเตอร์ที่เป็นที่รู้จักมาเป็นส่วนหนึ่งของร้าน สามารถช่วยให้เราสื่อสารกับลูกค้าได้ง่าย”

ด้วยความที่มิสเตอร์บีนเป็นภาพยนตร์และมีเรื่องเล่ามาก่อน การออกแบบและตกแต่งร้านจึงเป็นสไตล์เล่าเรื่อง โดยที่ปัจจุบันมีทั้งหมด 3 สาขา แต่ละสาขาจะมีธีมและเรื่องราวแตกต่างกัน เช่น สาขาทองหล่อ ในธีม My First Date สาขาเดอะ วอล์ค เกษตรนวมินทร์ ในธีม Mr. Bean’s Home และสาขาอาคารสยามกิตติ์ ในธีม Mr. Bean in The Park

กลุ่มลูกค้าหลักของ Mr. Bean Coffee Shop จึงมีทั้งกลุ่มคนที่ชื่นชอบในตัวคาแร็กเตอร์มิสเตอร์บีน กลุ่มครอบครัวที่โตมากับภาพยนตร์เรื่องนี้ และกลุ่มนักศึกษาที่มองร้านกาแฟเป็น “Third Place” ที่เข้ามาอ่านหนังสือ ติวหนังสือกันเป็นกลุ่มก็มี เพราะทำเลส่วนใหญ่ก็อยู่ใจกลางเมือง 

สำหรับแผนธุรกิจในอนาคตสำหรับ Mr. Bean Coffee Shop อลิสมองว่ายังคงเป็นการพัฒนาแบรนด์ และเอกลักษณ์ของเรื่องราวในแต่ละสาขา ถือว่าเป็นจุดเด่นในการเล่าเรื่อง และจะมีการขยายสาขาต่อไปอีกในปีนี้ แต่ยังอยู่ในขั้นตอนการวางแผน

ทรู คอฟฟี่ จับ “ไลน์ เฟรนด์” เปิด “ไลน์ คาเฟ่”

สำหรับอีกหนึ่งยักษ์ใหญ่ในตลาดร้านกาแฟอย่าง “True Coffee (ทรู คอฟฟี่) ก็เข้าสู่ตลาด “คาแร็กเตอร์ คาเฟ่” ด้วยการร่วมมือกับ “ไลน์” เพื่อนำเอา คาแร็กเตอร์ “ไลน์ เฟรนด์” โดยนำเอาจุดเด่นของทั้งสององค์กร มาใช้ประโยชน์ร่วมกัน

จุดขายสำคัญของ ไลน์ คือ คาแร็กเตอร์การ์ตูน และฐานลูกค้าผู้ใช้ไลน์ ซึ่งมีอยู่จำนวนมากในไทย ในขณะที่ทรูจะนำเอาประสบการณ์ในธุรกิจคาเฟ่ และการเป็นโอเปอเรเตอร์มือถือ มาผสมผสาน สร้างให้เป็น LINE Café (ไลน์ คาเฟ่) โมเดลร้านกาแฟของไลน์แห่งแรกของโลก ซึ่งหากสำเร็จจะมีโอกาสนำโมเดลนี้ไปใช้ในประเทศอื่นๆ

การออกแบบร้านใช้ธีมสีขาวและดำเป็นส่วนใหญ่ ในรูปแบบของ Modern Café และมีการแบ่งโซนเป็นคาเฟ่ร้านกาแฟด้านในร้าน ส่วนบริเวณด้านนอกจะเป็นส่วน Outdoor Streetนำเอาจุดเด่น Brand Collaboration ของทั้งคู่มาเป็นส่วนผสมร่วมกัน

โดยที่ก่อนหน้านี้ไลน์ คาเฟ่ได้จัดกิจกรรมก่อนเปิดตัว “Let’s countdown at the first LINE CAFÉ in the world” ในการให้ลูกค้ามาลงทะเบียนในแฟนเพจ เพื่อเป็นลูกค้า 500 คนแรก ซึ่งกำหนดเปิดของร้านที่แต่เดิมคาดว่าจะเปิดในช่วงเดือนมกราคม ต้องเลื่อนออกไปเปิดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2558