ไพรม์ไทม์เดือด…ช่อง 3-7 สะเทือน ช่อง 8-ช่องวัน เปิดศึกชิงละครหลังข่าว

เดือดแน่ !…เกาะติด “สงครามดิจิทัลทีวี” จาก 2 คู่รบใหม่ในศึกละครหลังข่าว เมื่อเจ้าตลาดเดิมอย่างช่อง 7 กำลังถูกท้าทายจากช่อง 8 ของค่ายอาร์เอส ส่วนช่อง 3 มี “ช่องวัน” ของแกรมมี่ ปั้นละครชิงคนดูในเมือง
   
หลังจากสถานการณ์เริ่มเข้าที่ ดีกรีความร้อนแรงสงครามการแข่งขันของดิจิทัลทีวีดุเดือดขึ้นทันที ล่าสุด สมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MATT) ระบุชัดถึงจำนวนคนดูทีวีอนาล็อกผ่านเสาอากาศลดลงเรื่อยๆ เพราะคนเปลี่ยนมาดูดิจิทัลทีวีมากขึ้น โดยเป็นผลมาจากที่ช่องอนาล็อกเดิมออกอากาศคู่ขนาน และดิจิทัลทีวีให้เลือกดูหลากหลาย ส่งผลให้ความนิยมในการรับชมช่องรายการที่มีจากระบบอนาล็อกเดิม ช่อง 3, 5, 7 และ9 เริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัด 

ผลสำรวจความนิยมคนดูของทีวีแต่ละช่อง ที่จัดทำโดยนีลเส็น ระหว่างวันที่ 1-25  มกราคม 2558 กับกลุ่มคนดูอายุ 15 ปีขึ้นไป ยังพบด้วยว่า ช่อง 7 ยังคงครองแชมป์เรตติ้งสูงสุด 12.2 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม ปี 2557 ที่เคยทำเรตติ้ง 18.9 ส่วนช่อง 3 ได้เรตติ้ง 7.5 ความนิยมลดลงจากเดือนพฤษภาคมปี 2557 ที่มีเรตติ้ง 13.7 ลดลงไปมากกว่าครึ่ง ช่อง MCOT หรือช่อง 9 เรตติ้งอยู่ที่ 3.5 ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2557 มีอยู่ 3.6 และช่อง 5 เรตติ้งลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2557 ทำได้ 3.8 หล่นมาเหลือ 3.4 ในเดือนมกราคม 2558

การลดลงของเรตติ้งช่องอนาล็อกเดิมนั้น ถูกจับตามองว่าเป็นผลมาจากช่วงเวลาละครหลังข่าวที่ถือเป็นช่วง “ไพรม์ไทม์” ของทีวี ที่ช่อง 3 และช่อง 7 เคยครองตลาดมายาวนาน กำลังต้องสูญเสียฐานคนดูไปให้กับช่องดิจิทัล

ช่อง 7 นั้นมีช่อง 8 ของค่ายอาร์เอส เข้ามาแย่งฐานคนดูในระดับประเทศ ในขณะที่ช่อง 3 ต้องเจอช่องวัน แย่งฐานคนดูในเขตกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ ส่งผลให้ความนิยมในช่องรายการเดิมอย่างช่อง 7 และช่อง 3 ลดลง และคาดว่าการแข่งขันจะสูงขึ้นในปี 2558 นี้ เนื่องจากทั้งช่อง 8 และช่องวันได้เริ่มลงทุนผลิตละครมากขึ้น

“โอกาสที่ช่องอนาล็อกที่เคยครองตลาดอยู่เดิม จะมีเรตติ้งเหมือนเดิมเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว เพราะคนดูมีทางเลือกมากขึ้น แทนที่จะมีให้เลือกดูแค่ 2 ช่อง เวลานี้กระจายไปเลือกดูช่องดิจิทัลทีวีอื่นๆ ตามความสนใจ และการที่ช่อง 3 และช่อง 7 จะทำละครให้โดนใจคนดูได้ตลอดคงเป็นไปไม่ได้ เมื่อละครเรื่องไหนไม่โดนใจ คนดูย่อมมีโอกาสหันไปดูช่องอื่นแทนพเยาว์ ธรรมธีรสุนทร หัวหน้าฝ่ายวางแผนกลยุทธ์สื่อทีวี บริษัทมายด์แชร์ ประเทศไทย จำกัด

สำหรับช่อง 8 ของอาร์เอส มีข้อได้เปรียบในเรื่องของฐานคนดู และแบรนด์ที่ติดตลาดตั้งแต่สมัยทำทีวีดาวเทียม เมื่อได้ใบอนุญาตทำดิจิทัลทีวีจึงนำมาต่อยอดได้ทันที ซึ่งแนวละครของช่อง 8 ที่มุ่งเน้นตอบโจทย์คนดูในระดับฐานราก โดยเป็นแนวละครบ้านๆ สไตล์ตบจูบ ซึ่งเป็นตลาดเดียวกับช่อง 7 ที่ครองตลาดนี้มาตลอด จึงเกิดการขับเคี่ยวเพื่อแย่งฐานคนดูในระดับประเทศ ระหว่างช่อง 7 และช่อง 8
   
เรตติ้งของช่อง 8 ที่ขึ้นเป็นอันดับ 5 พิสูจน์ได้ว่า ช่อง 8 กำลังเดินหน้าไปดี นอกจากจะเตรียมขยับขึ้นค่าโฆษณาไม่น้อยกว่า 4-5 เท่า ช่อง 8 ได้ประกาศเตรียมอัดฉีดงบลงทุน 800 ล้านบาท มาใช้ผลิตรายการ และเพิ่มเวลาละคร จากที่เคยออกอากาศ 3 วัน เพิ่มเป็น 5 วัน และยังเพิ่มรายการประกวดร้องเพลง และรายการมวย เพื่อตอบโจทย์คนดูกลุ่มแมสให้มากขึ้น โดยเป้าหมายของช่อง 8 คือ ต้องการเบียดช่อง 5 และช่อง 9  ขึ้นจากอันดับ 5 มาเป็นอันดับ 3 ในผังเรตติ้ง ที่ยังคงมีช่อง 3 และช่อง 7 นำหน้า

สำหรับค่ายจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ได้ลงมือ “ปรับพอร์ตธุรกิจ” หันมามุ่งเน้นธุรกิจ “ดิจิทัลทีวี” เต็มตัว จากการลงทุนดิจิทัลทีวี 2 ช่อง คือ ช่องวัน (ช่อง HDความคมชัดสูง) และช่องจีเอ็มเอ็ม แชนแนล (ช่อง SD ความคมชัดปกติ) 

“ช่องวัน” นั้นวางจุดยืนไว้ให้เป็นช่องที่มุ่งเน้นผลิตละคร เจาะกลุ่มคนดูทั่วไป โดยมี “ถกลเกียรติ วีรวรรณ” เป็นผู้กุมบังเหียน ในขณะที่จีเอ็มเอ็ม แชนแนล มี “พี่ฉอด-สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา โดยมุ่งไปที่กลุ่มวัยรุ่น

งานนี้ แกรมมี่ จึงต้องเตรียมสรรพกำลังเต็มที่ โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนในการผลิตเนื้อหาโดยประมาณ เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าช่องละ 1,000 ล้านบาท เพื่อให้ช่องวันและจีเอ็มเอ็ม แชนแนลแจ้งเกิดโดยเร็ว

ผลจากผลสำรวจเรตติ้งของนีลเส็นพบว่า เรตติ้งของช่องวันในเดือนมกราคม 2558 ที่ผ่านมาสดๆ ร้อน อยู่ในระดับ 1.7  อยู่ในอันดับ 3 ของช่องดิจิทัลทีวี 

จุดแข็งของช่องวัน นอกจากรายการ “เดอะสตาร์” ที่เคยออกอากาศในช่อง 9 ก็ย้ายมาออกอากาศที่ช่องวัน รวมทั้งละครยังเป็น “ไฮไลต์” สำคัญของค่ายนี้ โดยมีเอ็กแซ็กท์และซีเนริโอ บริษัทภายใต้การดูแลของ บอย-ถกลเกียรติ ที่เคยฝากฝีไม้ลายมือไว้สมัยผลิตป้อนให้กับช่อง 5 มายาวนาน ทำให้มีฐานแฟนละครอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ และจังหวัดใหญ่ ที่เป็นฐานลูกค้ากลุ่มเดียวกับช่อง 3

นอกจากจะยกเลิกผลิตละครป้อนให้กับช่อง 5 เพื่อมาออกอากาศ “ช่องวัน” ถกลเกียรติยังได้ผลักดันให้บรรดาเหล่านักแสดงในสังกัดเอ็กแซ็กท์ เช่น พิมพ์มาดา บริรักษ์ศุภกร (พิมพ์ซาซ่า)  อ้อม-พิยดา จุฑารัตนกุล เจี๊ยบ-โสภิตนภา ชุ่มภาณี ก้าวขึ้นมาเป็นผู้จัดละครป้อนให้กับช่องวัน เพื่อให้เกิดความหลากหลาย และรองรับกับการเพิ่มเวลาในการทำละคร

โดยตามแผนที่ช่องวันประกาศไว้ในปี 2558 จะมุ่งเน้นละครในช่วงไพรม์ไทม์เวลา 20.15-22.15 น. โดยจะใช้งบลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท ในการผลิตรายการ ซิทคอม เกมโชว์ และละคร โดยปีนี้จะผลิตไม่ต่ำกว่า 10 เรื่อง

นอกจากนี้ ปลายปีที่แล้ว ยังมีความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของค่ายนี้ นั่นคือ การปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น ในบริษัทจีเอ็มเอ็ม วัน ทีวี เทรดดิ้ง ที่ดำเนินธุรกิจทดิจิทัลทีวี “ช่องวัน” ซึ่งเดิมแกรมมี่ถือหุ้นใหญ่ แต่ล่าสุด อากู๋-ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ได้ตัดสินใจเปิดทางให้กับ “ถกลเกียรติ วีรวรรณ” เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุน และถือหุ้นในสัดส่วน 49% แกรมมี่ถือหุ้น 51% เพื่อให้ “ถกลเกียรติ” รับบทบาทคีย์แมน และหุ้นส่วนทางธุรกิจคนสำคัญ เพื่อนำเอาประสบการณ์ในการทำละคร และเงินทุนมาร่วมกันผลักดัน “ช่องวัน” ให้แจ้งเกิดในเร็ววัน

เนื่องจากเดิมพันของช่องนี้ค่อนข้างสูง ต้องสู้กับบิ๊กทีวีที่ครองตลาดเดิมอย่างช่อง 3 และช่อง 7 และยังมีคู่แข่งดิจิทัลทีวีอย่างเวิร์คพอยท์ และอาร์เอส ก็มีเป้าหมายไม่แตกต่างกันนัก งานนี้ แกรมมี่ต้องหันหัวรบเข้าสู่สนาม “ดิจิทัลทีวี” ต้องเตรียมทั้ง เสบียงกรัง เงินทุน กำลังคนเต็มอัตราศึก

ส่วน จีเอ็มเอ็ม แชนแนล ที่มี พี่ฉอด-สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา เป็นแม่ทัพ เตรียมใช้งบลงทุน 1,200 ล้านบาท ผลิตคอนเทนต์เน้นกลุ่มวัยรุ่น โดยมีคลับฟรายเดย์ เดอะซีรีส์ เป็นรายการที่มีเรตติ้งสูงสุด ค่าโฆษณา 1.5 แสนบาทต่อนาที นอกจากเนื้อหารายการยังใช้งบโฆษณา 100 ล้านบาท ออกแคมเปญการตลาด 3 เดือน ลุ้นรถโตโยต้าอัลติสเดือนละ 1 คัน เพื่อสร้างแบรนด์ให้จดจำมากขึ้น ปีนี้ตั้งเป้าทำรายได้ 700 ล้านบาท หวังขึ้นท็อป 5 ของช่องดิจิทัลทีวี จากปัจจุบันมีเรตติ้งอยู่อันดับ 9-10

ทางด้านเวิร์คพอยท์ทีวี วิ่งขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ของ “ดิจิทัลทีวี” คว้าเรตติ้งไป 6.2 แซงหน้าช่อง MCOT และช่อง 5 ไปแล้ว 

จุดเด่นของเวิร์คพอยท์ คือ รายการวาไรตี้ เกมโชว์ ที่ค่ายนี้ฝากฝีไม้ลายมือ สร้างชื่อในฐานะผู้ผลิตรายการทีวีที่มีประสบการณ์มายาวนาน จึงมีฐานคนดูทั้งกลุ่มเป้าหมายทั้งในระดับแมส และกลุ่มคนเมือง เมื่อเรตติ้งไปได้ดี โฆษณาวิ่งเข้า จึงมีเงินมาลงทุนผลิตรายการเกมโชว์ และละคร ออกมาตอบโจทย์คนดูได้ต่อเนื่อง  

เวิร์คพอยท์จึงใส่เกียร์เดินหน้าเต็มที่ ปัญญา นิรันดร์กุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ บอกว่า ปี 2558 จะใช้งบลงทุนกว่า 800 ล้านบาท ลงทุนสตูดิโอใหม่ 150 ล้านบาท อีก 80-90 ล้านบาท ลงทุนอุปกรณ์ และอีกประมาณ 556 ล้านบาท จะใช้ไปกับการลงทุนด้านเนื้อหา จะมีทั้งเกมโชว์ วาไรตี้ ละครซีรีส์ จากญี่ปุ่น เกาหลี และการ์ตูน คาดว่าสิ้นปี 2558 จะมีรายได้จากช่อง 1 เวิร์คพอยท์อยู่ที่ 1,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2557 ที่มีรายได้เพียง 550 ล้านบาท

ผลจากคนดูเพิ่มขึ้น ทำให้ช่องดิจิทัลทีวีที่อยู่ในอันดับต้นๆ มีเรตติ้งใกล้เคียงกับช่อง 5 และช่อง 9 ปรับค่าโฆษณาขึ้นเฉลี่ย 40-50%  

แต่ถึงจะปรับเพิ่มขึ้น แต่อัตราค่าโฆษณายังอยู่ในระดับตัวเลข “หลักหมื่นบาท” ประมาณ 4-5 หมื่นบาท ยังไม่สูงถึงกับช่อง 3 และช่อง 7 ที่ยังมีอัตราค่าโฆษณาในช่วงไพรม์ไทม์ นาทีละ 4-5 แสนบาท และผลจากการมีคู่แข่งเข้ามาแย่งชิงคนดู ทำให้ช่อง 3 และช่อง 7 ไม่สามารถขึ้นค่าโฆษณาได้เหมือนที่ผ่านๆ มา ที่มีการขึ้นค่าโฆษณาทุกปี ย่อมส่งผลกระทบต่อรายได้ของทั้งช่อง 3 และช่อง 7

ช่อง 7 และช่อง 3 แม้ว่ายังมีรตติ้งสูงสุด เนื่องจากมีฐานคนดูที่เป็นแฟนละครและข่าวติดตามอยู่ ซึ่งช่อง 3 และช่อง 7 เองก็พยายามดึงผู้ชม ด้วยการนำเสนอละครออกมาต่อเนื่องเพื่อรักษาฐานคนดูเดิมไว้

ช่อง 7 นั้น ประมูลใบอนุญาตดิจิทัลทีวีมาช่องเดียว จึงมุ่งเน้นการเลือกเฟ้นผู้จัดรายการและละคร เพิ่มเรื่องคุณภาพให้กับตัวรายการ

ส่วนช่อง 3 เอง รู้ดีว่าสภาพการแข่งขันของธุรกิจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จากคู่แข่งที่มีถึง 20 กว่าราย ช่อง 3 จึงต้องคว้าช่องไว้ในมือให้มากที่สุด และถึงเวลาที่ช่อง 3 จะต้องออกอาวุธใหม่ โดยให้ 3 HD ปักหลักรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ให้มากที่สุด ส่วนช่อง 28  หรือช่อง SD ไว้เป็นอีกทางเลือกในการสกัดคู่แข่ง ด้วยการอัดรายการ “แม่เหล็ก” ในช่วงไพรม์ไทม์ ตั้งแต่เวลา 5 โมงเย็นจนถึง 4 ทุ่ม เริ่มด้วยภาพยนตร์จีน รายการข่าว 3 มิติของกิตติ สิงหาปัด และเดอะวอยซ์ อเมริกา เพื่อรับมือคู่แข่งรายใหม่ๆ ที่เข้ามาช่วงชิงคนดูในไพรม์ไทม์ 

ส่วนใครจะแพ้หรือชนะในสงครามรอบนี้ เดิมพันครั้งนี้ เปรียบแล้วคงต้องเป็น “ละครเรื่องยาว” ที่ต้องใช้เวลากว่าจะรู้ตอนจบ