มหาวิทยาลัยแม่โจ้ผนึกไอบีเอ็ม จัดตั้งศูนย์บ่มเพาะความเป็นเลิศด้านอนาไลติกส์เพื่อการเกษตรแห่งแรกของไทย

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ร่วมกับไอบีเอ็มเปิดศูนย์บ่มเพาะความเป็นเลิศด้านอนาไลติกส์เพื่อการเกษตร หรือ “ศูนย์สมาร์ทโซลูชั่นเพื่อการเกษตร” ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้และบ่มเพาะธุรกิจไอทีเพื่อการเกษตรแห่งแรกในประเทศไทย ภายใต้วัตถุประสงค์ในการนำการวิเคราะห์เชิงลึกหรืออนาไลติกส์ (Analytics) เข้าเสริมศักยภาพทุกภาคส่วนอย่างรอบด้าน ตั้งแต่ด้านการศึกษาระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก การนำความสามารถด้านอนาไลติกส์รวมถึงแพลตฟอร์มที่พร้อมใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านคลาวด์และอุปกรณ์สื่อสารพกพา เข้าต่อยอดโครงการวิจัยด้านการเกษตรเพื่อสนับสนุนชุมชนและอุตสาหกรรมในจังหวัดภาคเหนือ ตลอดจนการสนับสนุนองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องและเงินทุนให้แก่นักศึกษาและผู้ประกอบการรายใหม่ในพื้นที่

ปัจจุบันมีข้อมูลที่ได้รับการสร้างขึ้นถึง 2.5 พันล้านกิกะไบต์ต่อวัน ความสามารถในการดึงและกลั่นกรองมุมมองเชิงลึกจากข้อมูลมหาศาลจึงเป็นปัจจัยพลิกเกมธุรกิจที่สำคัญ ขณะที่การเกษตรถือเป็นหัวใจของประเทศ โดยไทยมีประชากรภาคเกษตรคิดเป็นร้อยละ 37.64 ของประชากรทั้งหมด1 มีเนื้อที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรทั้งสิ้นร้อยละ 46.542 เฉพาะภาคเหนือมีเนื้อที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรร้อยละ 30.64 แต่โดยรวมแล้วพื้นที่การเกษตรถึงร้อยละ 40 ของประเทศกลับยังมีการใช้ที่ดินที่ไม่เหมาะสมกับศักยภาพ3 ดังนั้น การเอื้อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมต่างๆ ได้ย่อมส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการเกษตร และเทคโนโลยีอย่างอนาไลติกส์จะเป็นกุญแจหลักที่ทำให้ระบบเกษตรอัจฉริยะเกิดขึ้นได้จริง อันเป็นความท้าทายที่ก่อกำเนิดศูนย์สมาร์ทโซลูชั่นเพื่อการเกษตรแห่งนี้

“มหาวิทยาลัยแม่โจ้มีพันธกิจในการส่งเสริมการเรียนรู้และนำเทคโนโลยีเข้าช่วยสร้างนวัตกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเกษตร พร้อมเป็นศูนย์การเรียนรู้และถ่ายทอดความเป็นเลิศด้านการเกษตรแก่ชุมชนภายใต้แนวคิดความพอเพียงและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน อันจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นและช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน” ผศ.ดร.จำเนียร ยศราช อธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าว “ทักษะทางด้านอนาไลติกส์จะเป็นรากฐานสำคัญที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่บัณฑิต ทั้งจะมีความสำคัญยิ่งต่อการเสริมสร้างศักยภาพขององค์กรรวมถึงงานด้านการเกษตรในอนาคต และทางมหาวิทยาลัยมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องในฐานะพันธมิตร จากผู้นำทางด้านนวัตกรรมและอนาไลติกส์ระดับโลกอย่างไอบีเอ็ม”

พันธกิจสำคัญใน 3 ด้านหลัก ของศูนย์สมาร์ทโซลูชั่นเพื่อการเกษตร

ด้านการศึกษา: ศูนย์ฯ จะร่วมกับไอบีเอ็มในการนำผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมแบ่งปันทักษะด้านอนาไลติกส์และกรณีศึกษาทางธุรกิจที่เกี่ยวข้อง การจัดอบรมและแข่งขันทดสอบความรู้ (Hackathon) การสอบรับประกาศนียบัตร การจัดฝึกงานในสิ่งแวดล้อมจริงทางธุรกิจ พร้อมการนำองค์ความรู้ด้านอนาไลติกส์เข้าร่วมพัฒนารายวิชาในกลุ่มการบริหารฐานข้อมูล (Data Warehouse) การบริหารจัดการข้อมูล (Information Management) การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ (Analytics for Decision Support) การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเชิงคาดการณ์ (Predictive Analytics) รวมถึงการพัฒนาแพลทฟอร์มโมบายล์คลาวด์ที่ผสานความสามารถด้านอนาไลติกส์ ในหลักสูตรคณะวิทยาศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ คณะพัฒนาการท่องเที่ยว คณะผลิตกรรมการเกษตร คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ และบัณฑิตวิทยาลัย เพื่อพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ที่พร้อมด้วยองค์ความรู้ด้านอนาไลติกส์และเกษตรอัจฉริยะ โดยตั้งเป้าหมายครอบคลุมนักศึกษาประมาณ 250 คนในปี พ.ศ. 2558

ด้านการวิจัย: การนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านอนาไลติกส์ รวมถึงเทคโนโลยีในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนอุปกรณ์สื่อสารพกพาผ่านคลาวด์ เข้าบูรณาการและต่อยอดโครงการวิจัยด้านการเกษตรอัจฉริยะในปัจจุบันของมหาวิทยาลัย อาทิ

  • โครงการพัฒนาเครื่องมือวางแผนกิจกรรมการเกษตรประจำวัน (Daily Farming Planner) ที่เน้นการพัฒนาฐานข้อมูลของเกษตรกรเพื่อการวางแผนการผลิตด้านการเกษตร โดยเชื่อมโยงระบบสารสนเทศการผลิตพื้นฐาน และเอื้อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ผ่านอุปกรณ์สื่อสารพกพา

  • โครงการพัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Support) ของเกษตรกร ผ่านระบบฐานความรู้บนอินเตอร์เน็ตของธุรกิจเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะขยายผลไปสู่การพัฒนาคลังความรู้ด้านธุรกิจเกษตรอินทรีย์ในระดับภูมิภาคและระดับประเทศต่อไป

  • โครงการการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบาร์โค้ดสองมิติหรือ RFID เพื่อบริการข้อมูลให้แก่นักท่องเที่ยว รวมถึงการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของโฮมสเตย์ โดยที่ผ่านมาได้มีการเก็บข้อมูลของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตลอดช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อนำสู่การวิเคราะห์พฤติกรรมการท่องเที่ยวและวางแผนเชิงนโยบายสำหรับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์อย่างยั่งยืนต่อไป
    ด้านการบ่มเพาะผู้ประกอบการรายใหม่: การให้การสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหม่หรือสตาร์ทอัพในสาขาที่เกี่ยวข้องกับไอทีเพื่อการเกษตร โดยร่วมมือกับศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจของมหาวิทยาลัย สนับสนุนผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีพื้นฐานธุรกิจด้านการเกษตร ด้วยเทคโนโลยีด้านอนาไลติกส์รวมถึงการพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนอุปกรณ์สื่อสารพกพาผ่านคลาวด์ของไอบีเอ็ม บูรณาการความสามารถเชิงปฏิบัติการของนักศึกษาระดับปริญญาตรี การวิเคราะห์และวางแผนของระดับปริญญาโท และความสามารถในการสังเคราะห์องค์ความรู้ให้ตกผลึกเพื่อสร้างธุรกิจใหม่ของระดับปริญญาเอก เพื่อต่อยอดงานวิจัยต่างๆ และก้าวสู่ธุรกิจนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ โดยศูนย์ฯ วางเป้าหมายที่จะผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ที่พร้อมดำเนินธุรกิจได้ 10 บริษัทในปีนี้ และจะมุ่งสู่การเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ในระดับอาเซียนโดยร่วมกับไอบีเอ็ม ภายในปี พ.ศ. 2559

“วิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ในการนำเอานวัตกรรมมาต่อยอดความความโดดเด่นทั้งด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงด้านการเกษตรอันเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศและท้องถิ่น ถือเป็นการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ไอบีเอ็มภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้ร่วมสานต่อความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาที่สร้างคุณค่าแก่ประเทศไทย” นางพรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าว

“ศูนย์บ่มเพาะความเป็นเลิศด้านอนาไลติกส์แห่งนี้จะเป็นแหล่งผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านอนาไลติกส์ที่มุ่งเน้นการเกษตรที่สำคัญของประเทศ ไอบีเอ็มในฐานะองค์กรที่ให้บริการด้านไอทีระดับโลก ได้ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสำหรับธุรกิจ รวมถึงเทคโนโลยีอัจฉริยะด้านการเกษตรมาโดยตลอด เรามุ่งมั่นที่จะร่วมผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากอนาไลติกส์ เพื่อเสริมศักยภาพงานด้านการเกษตรและผู้ประกอบการรายใหม่ และขยายขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ”

การจัดตั้งศูนย์ฯ ครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการประกาศความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ไอบีเอ็ม สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (ทีเอ็มเอ) และอีก 8 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยในปี พ.ศ. 2557 เพื่อนำอนาไลติกส์เข้าเสริมความแข็งแกร่งภาคการศึกษาและต่อยอดขีดความสามารถภาคธุรกิจไทย ให้พร้อมรับการแข่งขันในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ที่ผ่านมาไอบีเอ็มยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ในการนำผู้เชี่ยวชาญระดับโลกของบริษัทฯ เข้าถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านอนาไลติกส์ให้แก่คณาจารย์ผ่านกิจกรรมเสวนาโต๊ะกลมด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเชิงคาดการณ์ พร้อมยังได้มีการจัดการเรียนการสอนด้านการบริหารจัดการข้อมูล บิสสิเนสอินเทลลิเจนส์ รวมถึงการวิเคราะห์เชิงลึก โดยมีนักศึกษาระดับปริญญาตรีเข้าร่วมโครงการแล้วมากกว่า 500 คน และเข้าร่วมสอบรับประกาศนียบัตรของไอบีเอ็มในด้านอนาไลติกส์และสาขาที่เกี่ยวข้อง 200 คน นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนให้โครงการด้านเกษตรอัจฉริยะของมหาวิทยาลัยเข้าร่วมแข่งขันในระดับนานาชาติภายใต้โครงการ IBM ASEAN Smart Camp

1 ที่มา: เอกสารตัวชี้วัดเศรษฐกิจการเกษตรของประเทศไทย ปี 2554 โดยสํานักงานเศรษฐกิจการเกษตร

2 ที่มา: “เนื้อที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตร รายจังหวัด ปี พ.. 2554 เบื้องต้น” โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

3 ที่มา: แผนยุทธศาสตร์กรมส่งเสริมการเกษตร พ.. 2556 – 2559