9 คลิปการบรรยายระดับโลก..ที่ควรดู!!

หลายคนคงรู้จักเว็บไซต์ชื่อดังระดับโลก TED Talk กันอย่างแน่นอน เพราะเป็นเว็บที่รวบรวมเอาคลิปการบรรยายของบุคคลที่มีชื่อเสียงก้องโลกไว้ ด้วยกัน หลากหลายมุมมองและช่วยสร้างแรงบันดาลใจ วันนี้ Life on Campus จึงรวบรวมคลิปการบรรยายที่วัยเรียนควรดู และยังเป็นคลิปที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ รวมถึงกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ในตัววัยเรียนออกมาอีกด้วย รับรองว่าได้ทั้งแรงบันดาลใจและได้ฝึกทักษะการฟังภาษาอังกฤษไปในตัวด้วย เรียกได้ว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวเลยทีเดียว
        
Angela Lee Duckworth : กุญแจแห่งความสำเร็จคือ ‘ความเพียร’
       
สำหรับการบรรยายของ “แอนเจล่า ลี ดั๊กเวิร์ธ” ถือเป็นการคลิปบรรยายที่มีคนดูมากสุดถึง 6,072,143 คน เรื่องราวของเธอเรียกได้ว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ เพราะเธอยอมทิ้งงานตำแหน่งสูงในวงการที่ปรึกษา ไปเป็นครูสอนคณิตศาสตร์ให้เด็กเกรดเจ็ดในโรงเรียนเทศบาลนิวยอร์ก เธอจึงรู้ว่า “ไอคิว” ไม่ใช่สิ่งที่แบ่งแยกเด็กที่ประสบความสำเร็จ ออกจากเด็กที่เรียนอ่อน ในการบรรยายครั้งนี้ เธอได้อธิบายทฤษฎีของเธอที่ว่า “ความเพียร” คือตัวพยากรณ์ความสำเร็จ ที่แท้จริงมากกว่า
       
เธอ ยังเล่าอีกว่า สิ่งที่เราต้องการมากที่สุดในระบบการศึกษา คือความเข้าใจในตัวเด็กนักเรียนและระบบการเรียนรู้ ทั้งในแง่ของการสร้างแรงจูงใจ และในแง่ของจิตวิทยา และอีกหนึ่งคุณสมบัติหนึ่งโดดเด่นขึ้นมา ซึ่งจะช่วยพยากรณ์ความสำเร็จได้ชัดเจน มันไม่ใช่ความฉลาดในการเข้าสังคม ไม่ใช่รูปลักษณ์ที่ดูดี ไม่ใช่การมสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และมันก็ไม่ใช่ไอคิว แต่มันคือ ‘ความเพียร’

“Dan Gilbert” กับคำถามที่ว่า “ทำไมเราจึงมีความสุข”
       
อีกหนึ่งการบรรยายดีๆ ของศาสตราจารย์วิชาจิตวิทยาชื่อดัง “แดน กิลเบิร์ต” จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ผู้ที่เรียกเสียงหัวเราะจากผู้ฟังบรรยายได้อย่างท่วมท้น ในหัวข้อบรรยายที่มีชื่อว่า “The Surprising Science of Happiness” ซึ่งเขาเองได้อธิบายเกี่ยวกับความสุขที่เราสามารถสร้างขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง เพราะเขามีความเชื่อที่ว่าการพบเจอความสุขที่แท้จริงนั้น เราสามารถพบความสุขได้ในทุกสถานการณ์
       
นอกจากนี้เขายังได้หยิบเรื่องราวของ “เซอร์ โทมัส บราวน์” มาพูดถึงในการบรรยาย ซึ่งโทมัสเคยเขียนบันทึกไว้ในปี 1642 ว่า “ฉันเป็นคนที่มีความสุขที่สุด” ข้อความดังกล่าวให้รายละเอียดไว้ว่า “ฉันสามารถเปลี่ยนความจนเป็นความรวย เปลี่ยนความแร้นแค้นเป็นความมั่งคั่ง” จึงกลายเป็นข้อความที่สร้างข้อสงสัยให้กับผู้ฟัง ถึงความพิเศษเกี่ยวระบบความคิดของโทมัส ซึ่งแดน กิลเบิร์ตจึงอธิบายต่อว่า ความจริงแล้วมันก็คือกลไกเดียวกันกับที่ทุกคนมีอยู่นั่นเอง เพราะมนุษย์เราทุกคนมีสิ่งที่เรียกว่าภูมิคุ้มกันทางจิต และเราสังเคราะห์ความสุขเองได้ แต่เราชอบคิดว่าความสุขเป็นสิ่งที่ต้องไปแสวงหาจากที่อื่น

Margaret Heffernan : จงกล้าที่จะแย้ง
       
เชื่อ ว่าหลายคนคงเคยมีความเห็นต่าง หรือไม่เห็นด้วยกับคนอื่นๆ กันบ้างล่ะ แต่โดยสัญชาตญาณแล้ว คนส่วนใหญ่มักหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง และหากใครได้รับชมคลิปการบรรยายนี้ความคิดของคุณจะเปลี่ยนไป “จงกล้าที่จะแย้ง” อีกหนึ่งประโยคสั้นๆ แต่มีพลังของ “มาร์กาเร็ต เฮฟเฟอร์นัน” เธอเชื่อว่าการขัดแย้งหรือเห็นต่างไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร ทว่าเป็น “ความคิดขัดแย้งเชิงสร้างสรรค์”
       
นอกจากนี้เธอยังให้ความเห็นว่า “คู่คิดที่ดีที่สุดไม่ใช่คนที่คอยทำตัวเหมือนเรา หรือมีความคิดเหมือนเรา” รวมถึงในเรื่องของการทำงาน บริษัทและองค์กรต่างๆ ล้วนเปิดรับความคิดเห็นต่าง หรือเรียกง่ายๆ คือ ไม่กีดกันผู้ที่มีความคิดต่างนั่นเอง แล้วถ้าจะสร้างความขัดแย้งเชิงสร้างสรรค์แบบนั้นต้องทำอย่างไร คลิปการบรรยายนี้ก็ได้อธิบายไว้อย่างชัดเจน
       
ผู้บรรยายยังเล่าอีกว่า ทางมหาวิทยาลัยเดลฟ์ (University of Delft) ซึ่งได้กำหนดให้นักศึกษาปริญญาเอก ต้องส่งข้อความ 5 ข้อความ ที่พวกเขาพร้อมที่จะถกเถียงกันด้วยเหตุผล มันไม่สำคัญว่าข้อความเหล่านั้นจะเกี่ยวกับอะไร สิ่งสำคัญก็คือว่า นักศึกษาเหล่านั้นเต็มใจและสามารถที่จะลุกขึ้นชี้แจงกับผู้มีอำนาจเหนือที่ กว่าได้หรือไม่ ทิ้งท้ายเธอยังบอกอีกว่า “ฉันคิดว่าเราต้องมีการสอนทักษะนี้ให้แก่เด็กและผู้ใหญ่ ถ้าหากเราต้องการที่จะมีองค์กรแห่งการคิดและสังคมแห่งการคิด”

Andy Puddicombe: 10 นาทีกับเรื่องที่เราสนใจ
       
แน่นอน ว่าในชีวิตวัยเรียนนั้น คงต้องเจอกับความเครียดและความกังวลใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งในเรื่องของการเรียน การคบเพื่อน สังคมมหาวิทยาลัย และอื่นๆ ดังนั้น คลิปการบรรยายนี้จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการกำจัดความเครียด ด้วยวิธีง่ายๆ เพียงใช้เวลาแค่ 10 นาทีเท่านั้น จากประสบการณ์เล่าเรื่องของ “แอนดี้” ผู้ที่เป็นทั้งนักแต่งหนังสือและนักพูดในที่สาธารณะชื่อดัง
       
สำหรับ วัยเรียนที่ต้องเจอกับเรื่องน่าเบื่อและมีเรื่องให้สมองต้องขบคิดอยู่ตลอด เวลา แอนดี้ได้บรรยายถึงเทคนิคดีๆ ที่ช่วยกำจัดความเครียดได้เพียงง่ายๆ แค่ 10 นาที หลายคนคงคิดว่าต้องไปเข้าคอร์สโยคะเพื่อฝึกสมาธิแน่นอน แต่ไม่ใช่เช่นนั้นเสมอไป เพียงแค่เราใช้เวลา 10 นาที ปล่อยเวลาตรงนั้นไปกับเรื่องที่เราสนใจ หรือรู้สึกผ่อนคลายกับมันก็ได้ผลแล้ว เช่นเดียวกับแอนดี้ที่ใช้เวลา 10 นาทีที่มีอยู่กับการเล่นกล

Larry Smith : ทำไมถึงไม่มีวันได้ทำงานดีๆ
       
เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งการบรรยายที่เรียกเสียงฮือฮาและปลุกเร้าแรงบันดาลใจให้คนดูมากที่สุดเลยก็ว่าได้ สำหรับ “แลรี่ สมิธ” นักเศรษฐศาสตร์ ผู้มีพรสวรรค์ด้านการโน้มน้าวใจคน ซึ่งเนื้อหาของการบรรยายนี้เน้นไปยังคำถามที่ว่า “ทำไมเราถึงไม่มีงานดีๆ ทำ” นั้นหล่ะจึงเป็นคำถามที่น่าสนใจและสร้างความอยากรู้อยากเห็นให้คนดู
       
ทำไมคนส่วนใหญ่ถึงตั้งคำถามถึงความล้มเหลว แลรี่ สมิธ ให้เหตุผลข้อแรกคือ ไม่ว่าคนอื่นจะบอกคุณสักกี่รอบว่า “ถ้าอยากจะทำงานที่ยิ่งใหญ่ คุณต้องไล่ตามฝันของตัวเอง ไขว่คว้าทำสิ่งที่คุณปรารถนา ทำสิ่งที่คุณหลงใหลที่สุดในชีวิต” คุณได้ยินคำพูดนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่คุณก็ไม่เคยเริ่มลงมือทำ ไม่ว่าคุณจะโหลดดูสุนทรพจน์ พิธีจบการศึกษาที่สแตนฟอร์ดของ “สตีฟ จ็อบส์” สักกี่รอบ คุณก็ยังแค่นั่งดู ไม่เคยลงมือทำ ผมก็ไม่ค่อยแน่ใจเหมือนกันว่าทำไมคุณตัดสินใจจะไม่ลงมือทำ
       
การบรรยายนี้จึงเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวความคิดของ แลรี่ สมิธ พร้อมกับการยกตัวอย่างสนุกๆ ให้ผู้ฟังเห็นภาพตามไปด้วย อีกทั้งยังเรียกเสียงหัวเราะจากคนดูทำให้ไม่รู้สึกเบื่อหน่ายที่จะฟังการ บรรยายใน 15 นาทีของเขาเลย

Susan Cain : พลังเงียบ..สร้างโลก
       
ถึง แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะมองว่านักปรัชญา นักวิทยาศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ และนักวิชาการที่เก่งที่สุด คนเหล่านี้มักเป็นพวกชอบเก็บตัว มักใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับตัวเอง หรืออยู่ในสถานที่ที่น่าเบื่อหน่าย มากกว่าที่จะแบ่งปันความคิด-ข้อมูลต่างๆ จึงไม่น่าแปลกที่คนส่วนใหญ่มักให้คุณค่าและยกย่องเชิดชูคนที่กล้าแสดงออก ชอบเข้าสังคม และมีความกระตือรือร้นสูงมากกว่าคนเก็บตัว
       
“ซูซาน เคน” นักเขียนชาวอเมริกัน เผยความจริงให้เห็นว่าเพราะเหตุใดสังคมอเมริกันจึงให้คุณค่ากับคนที่มี บุคลิกแบบเก็บตัวน้อยกว่าบุคลิกลักษณะเปิดเผย หรือคนที่ชอบเข้าสังคม และเปิดมุมมองใหม่ให้เราได้รู้ว่าคนเงียบ-เข้าสังคมไม่เก่ง ก็ประสบความสำเร็จและสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่แก่โลกได้ไม่แพ้กัน ดูได้จากบุคคลสำคัญที่มีบุคลิกชอบเก็บตัวอย่าง “วอร์เรน บัฟเฟตต์” และ “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์”
       
การบรรยายนี้จึงเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ “ความแข็งแกร่งหรือพลังของความเงียบ” ซึ่งให้มุมคิดที่น่าสนใจ และสะท้อนมุมมองต่างไปจากค่านิยมของสังคมในยุคปัจจุบัน ที่คนส่วนใหญ่มักให้ความชื่นชมหรือนิยมคนประเภทชอบเข้าสังคมมากกว่าพวกเก็บ ตัวนั่นเอง

Matt Cutts : ลองทำอะไรแปลกใหม่เป็นเวลา30 วัน
       
เชื่อเถอะว่ามีอะไรมากกว่าคลิปการบรรยายสั้นๆ แค่ 3 นาทีกว่าๆ ของ “Matt Cutts” นักวิศวกรคอมพิวเตอร์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ “Google” ในหัวข้อ “Try Something New for 30 Days” การบรรยายนี้จะช่วยปลุกแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึก กระตือรือร้น ด้วยคำพูดง่ายๆ ของเขา “มีอะไรบ้างที่คุณคิดไว้ว่าจะทำ อยากจะทำ แต่ว่ายังไม่ได้ทำ”
       
แมทคัทส์ กล่าวบรรยายสั้นๆ ด้วยเนื้อหากินใจ กระตุ้นให้คนหันมาลองทำสิ่งที่ไม่เคยทำ อย่างการทำสิ่งแปลกใหม่ใน 30 วัน และเขาเชื่อว่าหากเราปล่อยเวลา 30 วันผ่านพ้นไปโดยที่ไม่ได้ลงมือทำอะไรใหม่ๆ มันอาจกลายเป็นแค่วันธรรมดาๆ 30 วันที่ไม่มีเรื่องอะไรให้น่าจดจำ แล้วทำไมคุณไม่ลองนึกถึงบางอย่างที่คุณอยากลองทำมาตลอด รับรองได้ว่าอีก 30 วันต่อจากนี้จะต้องเปลี่ยนไป การบรรยายของเขาจึงเป็นการเสนอวิธีการคิด และการตั้งเป้าหมายเพื่อให้บรรลุความสำเร็จนั่นเอง

David Kelley : จงเชื่อมั่นใจความคิดสร้างสรรค์
       
ต่อกันที่คลิปการบรรยายที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการมีความคิดสร้างสรรค์ และหากใครลองสังเกตดู จะรู้ว่า ในโรงเรียนหรือที่ทำงานของเรา จะมีการแบ่งกลุ่มคนออกเป็นพวกมีความคิดสร้างสรรค์ กับพวกที่ไม่มี “เดวิด เคลลี่” นักออกแบบไอคอนยุคดิจิตอลชื่อดัง นำเสนอว่า ความคิดสร้างสรรค์ ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่กับกลุ่มคนเพียงส่วนน้อย เขาได้เล่าเรื่องราวต่างๆ ผ่านประสบการณ์ชีวิตและการทำงานของเขา และแนะหนทางที่จะสร้างความเชื่อมั่นเพื่อสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ
       
นอกจากนี้เขายังยกตัวอย่าง “วิทยาลัยการออกแบบสแตนฟอร์ด” ที่มีผู้คนจากหลากหลายที่มาเรียนด้วยกัน พวกเขาเคยมองตัวเองว่าเป็นพวกที่ใช้แต่หลักเหตุและผล และเมื่อพวกเขาเข้ามา พวกเขาได้สร้างความมั่นใจ มองตัวเองต่างไปจากเดิม กับความจริงที่ว่า พวกเขาสามารถเรียกตัวเองและมองตัวเองได้ว่า เป็นพวกมี “ความคิดสร้างสรรค์”
       
เดวิด เคลลี่ ยังกล่าวทิ้งท้ายคลิปการบรรยายอีกว่า ความจริงแล้วคนทุกคนมีความสร้างสรรค์โดยธรรมชาติอยู่แล้ว และพวกเขา น่าจะปลดปล่อยพลังความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองออกมา และการรับรู้ความสามารถของตนเองก็จะทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ และสามารถสร้างความเชื่อมั่นในพลังสร้างสรรค์ของตัวเองได้อีกด้วย

Adora Svitak : สิ่งที่ผู้ใหญ่ควรเรียนรู้จากเด็ก
       
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าคลิปการบรรยายต่อไปนี้ คือการบอกเล่าเรื่องราวของเจ้าหนูอัจฉริยะ “อโดรา สวิทัก” หนูน้อยที่มีคำพูดเฉียบคม วัย 12 ปี เห็นตัวเล็กแบบนี้เรียกได้ว่า “จิ๋วแต่แจ๋ว” เพราะความคิด-การอ่านของเธอนั้น ราวกับผู้ใหญ่มาบรรยายอย่างไงอย่างนั้น การบรรยายของเธอช่วยให้ผู้ใหญ่หลายคนตระหนกคิดได้ว่า โลกนี้ต้องการความคิดแบบเด็กๆ การมีไอเดียที่ไม่กลัวใคร และความคิดสร้างสรรค์แบบสุดโต่ง โดยเฉพาะการมองโลกในแง่ดี
       
เธอยังบรรยายอีกว่าความฝันอันยิ่งใหญ่ของเด็กๆ นั้น ควรค่าแก่ความคาดหวัง ซึ่งเริ่มได้จากการที่ผู้ใหญ่หันหน้ามา “เรียนรู้” ไปพร้อมๆ กัน นอกจากนี้เธอยังยกตัวอย่างฮีโร่อายุน้อยที่ถูกจารึกในประวัติศาสตร์ไว้ เช่น “แอนน์ แฟรงค์” ที่ครองใจหลายล้านคน ด้วยเรื่องราวทรงพลังจากบันทึกของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ “รูบี้ บริดจ์เจส” ช่วยลบการเหยียดผิวหรือศาสนาในอเมริกา และล่าสุด หนูน้อย “ชาร์ลี ซิมสัน” ได้ช่วยเรี่ยไรเงินบริจาค 120,000 ปอนด์ หรือกว่า 7 ล้านบาท ไปช่วยเฮติ ด้วยจักรยานน้อยๆ ของเขาเอง
       
ดังนั้นเธอยังทิ้งแง่คิดดีๆ ไว้อีกว่า “หากคุณมองจากตัวอย่างดังกล่าว อายุไม่ได้มีส่วนเลยแม้แต่น้อย คุณลักษณะของการ ‘ทำตัวเหมือนเด็ก’ ที่สื่อออกมานั้น หลายครั้งผู้ใหญ่ก็เป็นเหมือนกัน” และเราก็ควรยกเลิกการใช้คำเชิงกีดกันอายุคำนี้ โดยเฉพาะในการวิจารณ์พฤติกรรม ที่เกี่ยวข้องกับ ‘การไร้ความรับผิดชอบ’ และ ‘การคิดแบบไร้เหตุผล’ เรียกได้ว่าการบรรยายของเธอนั้น ทำให้ผู้ใหญ่ที่นั่งฟังถึงกับลุกขึ้นปรบมือกันเลยทีเดียว เล็กพริกขี้หนูจริงๆ นะเรา

อ้างอิงข้อมูลจาก
– http://www.ted.com/talks/adora_svitak
– https://www.ted.com/talks/angela_lee_duckworth_the_key_to_success_grit?l…
– http://www.collegerank.net/10-ted-talks-every-potential-college-student-…

ที่มา : http://manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9580000034869