เฟซบุ๊กปรับโฉม “Messenger App” ใหม่ สู้ศึก LINE

เฟซบุ๊ก (Facebook) เครือข่ายสังคมยักษ์ใหญ่ประกาศให้นักพัฒนาจากภายนอกร่วมเพิ่มฟังก์ชันบนแพลตฟอร์ม “Messenger” ได้ตามใจปรารถนา พร้อมโชว์ตัวเลขผู้ใช้กว่า 600 ล้านคน เป็นสิ่งยั่วใจ ไม่เท่านั้นยังเผยแผนบริการใหม่ “Businesses on Messenger” ที่เชื่อว่าจะทำให้ธุรกิจกับผู้บริโภค “ใกล้ชิด” กันมากขึ้น
       
อาจเป็นจริงตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ปีนี้จะเป็นปีทองของแอปกลุ่ม Messenger ที่มีโอกาสเติบโตอย่างก้าวกระโดด เพราะล่าสุด ยักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊ก ก็ได้ประกาศเสริมแกร่งบริการ Messenger ของทางค่ายครั้งใหญ่ โดยเปิดโอกาสให้นักพัฒนาจากภายนอกสามารถพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ เพิ่มเติมลงในแอป Messenger ได้ รวมถึงการเผยแผนดัน Messenger เข้าสู่โลกธุรกิจอย่างเต็มตัว หลังจากที่เคยออกมาประกาศว่า สามารถโอนเงินผ่านบริการดังกล่าวได้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
       
การประกาศครั้งนี้จัดขึ้นภายในงาน F8 Developers Conference ของเฟซบุ๊กที่ซานฟรานซิสโก โดยมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอเฟซบุ๊กเน้นย้ำถึงความสำคัญของบริการ Messenger ของทางค่ายว่า ปัจจุบันมีผู้คนกว่า 600 ล้านคนใช้งานแอป Messenger บนความถี่เดือนละครั้งเป็นอย่างน้อย

ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นบนแพลตฟอร์ม Messenger คือ การที่ยอมให้ยูสเซอร์สร้างคอนเทนต์ขึ้นบนแอปอื่นๆ แล้วนำมาแชร์ หรือส่งต่อให้กับเพื่อนๆ ในเฟซบุ๊กได้ พร้อมระบุด้วยว่า คอนเทนต์ที่สร้างขึ้นนั้น สร้างด้วยแอปอะไร เพื่อให้เพื่อนๆ ที่ได้รับคอนเทนต์นั้นๆ สามารถเข้าไปดาวน์โหลด-เล่นแอปนั้นได้ด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างแอปที่สามารถแชร์คอนเทนต์บนเฟซบุ๊กเช่น FlipLip (สร้างภาพพูดได้), Bitmoji (สร้าง Emoji ของตนเอง) เป็นต้น
       
สำหรับผู้ที่สนใจเล่นแอปใหม่ๆ บน Messenger นั้น ทางเฟซบุ๊กได้ประกาศในงาน F8 Conference แล้วว่ามีแอปกว่า 40 ตัวที่สามารถนำมาใช้งานร่วมกันกับแพลตฟอร์ม Messenger ได้ ได้แก่ ESPN, Bitmoji, JibJab, Legend, Ultratest, Ditty, Giphy, FlipLip, ClipDis, Memes, PicCollage, Kanvas, JJ Abrams’ studio Bad Robot’s Action Mobie FX, Boostr, Camoji, Cleo Video Texting, Clips, Dubsmash, Effectify, EmotionAR, EMU, Fotor, Gif Keyboard, GifJam, Hook’d, Imgur, Imoji, Keek, Magisto, Meme Generator, Noah Camera, Pic Stitch, PingTank, Score! on Friends, Selfied, Shout, StayFilm, Facebook Stickered, Strobe, Tackl, Talking Tom, Tempo, The Weather Channel, to.be Camera, และ Wordeo
       
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญบางคนให้ความเห็นว่า การทำเช่นนี้อาจสร้างความเสี่ยงให้กับแอป Messenger ในที่สุด เพราะความสามารถที่เพิ่มขึ้นก็อาจส่งผลให้แอป Messenger กินทรัพยากรของเครื่องมากเกินความจำเป็นนั่นเอง

มาแล้ว Businesses on Messenger
       
นอกจากนั้น ซีอีโอเฟซบุ๊กยังเผยด้วยว่า บริษัทมีแผนจะเปิดตัวบริการ Businesses on Messenger ด้วย ซึ่งทางเฟซบุ๊กเชื่อว่า บริการ Businesses on Messenger นี้จะช่วยให้เจ้าของกิจการต่างๆ มีความใกล้ชิดกับลูกค้า หรือผู้สนับสนุนได้มากขึ้น
       
ข้อมูลที่เฟซบุ๊กนำมาอ้างเพื่อสนับสนุนแนวคิดนี้คือ แนวคิดของผู้บริโภคที่ไม่ชอบเสียงของระบบคอลเซนเตอร์นั่นเอง รวมถึงการส่งอีเมลที่อาจสร้างความรำคาญใจ และมองว่า Businesses on Messenger สามารถเข้ามาแทนที่ได้อย่างเหมาะสมมากกว่า เช่น บริษัทขนส่งสินค้าอาจใช้ Messenger ในการการแจ้งสถานะการจัดส่งสินค้าแก่ลูกค้าเป็นต้น โดยพาร์ตเนอร์ของเฟซบุ๊กอย่าง Everlane และ Zulily ได้แสดงตัวอย่างของบริการดังกล่าวเช่น หากลูกค้าสั่งสินค้าจาก Everlane และต้องการเปลี่ยนของ, คืนของ, หรือติดตามสินค้าที่สั่ง ก็สามารถติดต่อกับ Everlane ได้เลยผ่าน Messenger ซึ่งทางเฟซบุ๊กมองว่า สะดวกกว่าการส่งอีเมลให้ลูกค้านั่นเอง

      
นอกจากนั้น ยังอำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจที่ต้องการเปิดบริการ Customer Support แก่ลูกค้าด้วย เพราะสามารถสนทนาแบบสดๆ ได้บนแพลตฟอร์ม Messenger ของเฟซบุ๊กนั่นเอง
       
แถมหากเจ้าของธุรกิจรายได้ต้องการแจ้งข้อมูลแก่ลูกค้าเพิ่มก็สามารถส่งได้โดยตรงผ่านทาง Messenger ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้เจ้าของธุรกิจไม่จำเป็นต้องลงทุนติดตั้งระบบเมล-เว็บไซต์แบบในอดีตนั่นเอง
       
งานนี้ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เตรียมตัวตอบคำถามลูกค้าจนมือไม่ว่างกันได้เลย

ที่มา : http://manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9580000034998