CAT ชู Digital Economy โอกาสพัฒนาธุรกิจ สร้างความร่วมมือพันธมิตรภูมิภาคขยายตลาดไอที

นายวิโรจน์  โตเจริญวานิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดและการขาย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ได้รับเกียรติเป็นตัวแทนนำเสนอภาพรวม และทิศทางธุรกิจโทรคมนาคมของไทย ในเวทีสัมมนาผู้ประกอบการสื่อสารโทรคมนาคมระดับนานาชาติ Carriers World Asia 2015 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-25 มีนาคม 2558 ณ โรงแรมแกรนด์ มิลเลนเนียม สุขุมวิท กรุงเทพฯ ประกาศผลักดันธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมสนับสนุนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ไปสู่ความเป็น Real-Time Economy

“อย่างที่ทราบกันว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยการนำเอาเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาใช้ สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับภาคส่วนต่างๆ ได้  โดยจากสถิติพบว่าการลงทุนในระบบไอซีทีรวมของประเทศเพิ่มขึ้นจะทำให้เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจภาพรวมเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน  CAT ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมหลักของประเทศจึงมองเห็นโอกาสของการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตควบคู่ไปพร้อมกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ  โดยวันนี้เราไม่เพียงแต่พัฒนาโครงข่ายการให้บริการของเราเอง แต่เรายังได้สร้างความร่วมมือกับพันธมิตรในระดับภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ อีกทั้งพันธมิตรในทวีปยุโรป อเมริกา รวมไปถึงพันธมิตรในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ลาว พม่า กัมพูชา มาเลเซีย  ให้มีการพัฒนาโครงข่าย และการให้บริการร่วมกันเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อการให้บริการลูกค้าในประเทศของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ บนความยืดหยุ่นสูงในการลงทุนทั้งด้านราคา และการเชื่อมต่อบนแพลตฟอร์มต่างๆ ทำให้การดำเนินธุรกิจของกลุ่มมีการพัฒนาต่อเนื่องอย่างเกื้อกูลกัน  กับประเทศเพื่อนบ้านนอกเหนือจากการพัฒนาโครงข่ายชายแดนเรายังได้ขยายการจัดสร้างจุดให้บริการเข้าไปยังประเทศต่างๆ อย่าง พม่า และลาว ซึ่งพร้อมให้บริการเชื่อมต่อมายัง Backbone ของ CAT ที่ประเทศไทยและเชื่อมต่อไปยังทั่วโลกได้ในทันที ทั้งการให้บริการวงจรส่วนบุคคลความเร็วสูง และการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ในประเทศต่างๆ  นอกจากนี้สำหรับกลุ่มพันธมิตรที่ต้องการมีจุดเชื่อมต่อในประเทศไทยเพื่อเป็นฐานการให้บริการโซนภูมิภาคเอเชีย ก็สามารถจัดตั้งจุดเชื่อมโยงให้บริการที่ Carrier Neutral Data Center ของ CAT ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวก และการบริหารจัดการตามมาตรฐาน ISO 270001  อีกทั้ง CAT ยังได้จัดแคมเปญรองรับการเชื่อมต่อธุรกิจภายในประเทศ และธุรกิจข้ามชาติที่มีหน่วยงานสาขาอยู่ใน 93 อาคารสำนักงานทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงอีกกว่า 73 นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศได้เชื่อมโยงสัญญาณวงจรส่วนบุคคลความเร็วสูงในราคาสุดพิเศษ  ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจได้เชื่อมโยงถึงกันบนเครือข่ายดิจิทัลไอที เพื่อเพิ่มศักยภาพและรุดหน้าไปสู่ Real-Time Economy หรือการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตด้วยการทำธุรกรรมได้แบบอัตโนมัติทั้งกระบวนการ” นายวิโรจน์กล่าว