โกลเด้น วีค…หยุดงานช่วยชาติ

ตั้งแต่วันที่ 2-6 พฤษภาคม ทั่วทั้งประเทศญี่ปุ่นจะคึกคักด้วยการเดินทางท่องเที่ยวและกลับไปเยี่ยมบ้าน เนื่องจากอยู่ในช่วงวันหยุดพิเศษ ซึ่งเกิดจากการรวมวันหยุด 3 วันเข้าด้วยกัน คือ วันรัฐธรรมนูญ, วันมิโดริ (วันคล้ายวันพระราชสมภพของอดีตสมเด็จพระจักรพรรดิโชวะ) และวันเด็ก สมทบด้วยวันหยุดชดเชยและวันเสาร์วันอาทิตย์ รวมทั้งสิ้นเป็นวันหยุดต่อเนื่อง 5 วัน 
 

ห้างร้านของญี่ปุ่นลดราคาสุดพิเศษช่วงโกลเด้นวีค
 
รัฐบาลญี่ปุ่นเป็นชาติแรกที่ใช้มาตรการ “วันหยุดช่วยชาติ” โดยในปี 1948 รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดวันหยุดราชการ 9 วันต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในช่วงปลายเดือนเมษายนจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม โรงภาพยนตร์หลายแห่งสังเกตว่าในช่วงวันหยุดนี้ รายได้เพิ่มขึ้นจากเวลาปกติหลายเท่าตัว จนเรียกขานกันว่าเป็น “สัปดาห์ทองคำ” หรือ “โกลเด้นวีค”
 
หลังจากนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นจึงส่งเสริมให้บริษัทต่างๆ ให้วันหยุดกับพนักงานมากขึ้น ในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซา รัฐบาลญี่ปุ่นเคยมีมาตรการสลับวันทำงาน เพื่อให้วันหยุดเทศกาลต่อเนื่องกับวันเสาร์อาทิตย์กลายเป็นวันหยุดยาว 3-4 วัน หรือ “ซิลเวอร์วีค”
 
เทศกาลและวันหยุด คือ วิธีการที่ดีในการเพิ่มการใช้จ่ายของประชาชน เพราะเมื่อมีวันหยุด ประชาชนจะเดินทางท่องเที่ยว ,กลับภูมิลำเนา หรือเฉลิมฉลอง มีการจองโรงแรมที่พัก ซื้อตั๋วเครื่องบิน รถโดยสาร ซื้อสินค้าของที่ระลึก ซื้ออาหารและเครื่องดื่มมาเฉลิมฉลอง ขณะที่ธุรกิจด้านบันเทิงและการพักผ่อนหย่อนใจ เช่น ห้างสรรพสินค้า สปา โรงภาพยนตร์ และการแสดงต่างๆ ล้วนแต่มีเงินสะพัดในช่วงเทศกาล
 
ความสำเร็จของ“โกลเด้นวีค” ของญี่ปุ่น ทำให้รัฐบาลจีนนำมาใช้บ้าง โดยในปี 1999 คณะรัฐมนตรีจีนประกาศจัดระเบียบวันหยุดประจำปี โดยให้วันแรงงาน 1 พฤษภาคม และวันชาติจีน 1 ตุลาคม เป็นวันหยุด 3 วัน และเมื่อรวมกับวันเสาร์ อาทิตย์สองสัปดาห์หัวท้ายก็จะเป็นวันหยุดต่อเนื่องยาว 7 วัน และหากหน่วยงานให้ให้พนักงานทำงานในวันหยุดยาวนี้ จะต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว 
 

คลื่นมหาชนช่วงสัปดาห์ทองคำที่ประเทศจีน
 
“โกลเด้นวีค” มีส่วนสำคัญช่วยลดผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งต่อจีน สถิติระบุว่า ในช่วงวันหยุดยาวปีแรกมีชาวจีนออกเดินทางท่องเที่ยวมากถึง 28 ล้านคน มีรายได้เฉพาะการท่องเที่ยว มากกว่า 14,000 ล้านหยวน อัตราการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงปกติมากกว่า 20% และจำนวนชาวจีนที่ท่องเที่ยวในช่วง “โกลเด้นวีค”ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 85 ล้านคน
 
อย่างไรก็ตาม ความหนาแน่นของประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกอย่างจีน ทำให้ระยะหลังโกลเด้นวีคแดนมังกรกลายเป็นช่วงเวลาแย่งกันกิน แย่งกันใช้ กำแพงเมืองจีนกลายเป็นกำแพงคลื่นมนุษย์ สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆเห็นแต่คนมากกว่าทิวทัศน์ จำนวนนักท่องเที่ยวบางพื้นที่เพิ่มขึ้น 10 เท่าตัวจากเวลาปกติ การจราจรแทบจะเป็นอัมพาต ทำให้ในปี 2008 รัฐบาลจีนปรับปรุงระบบวันหยุด โดยยกเลิกวันหยุดยาวในวันแรงงานเหลือเพียงหยุดวันเดียว แต่ให้เพิ่มวันหยุดในเทศกาลอีก 3 วัน คือ วันเช็งเม้ง วันเทศกาลบะจ่าง และวันไหว้พระจันทร์
 
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีน ระบุว่า ความอลหม่านในช่วงวันหยุดยาวเป็นปัญหาของ “การบริหารจัดการ” ไม่ใช่แนวคิดเรื่องวันหยุด ในระยะหลังรัฐบาลจีนจึงส่งเสริมให้บริษัทต่างๆ ให้วันหยุดพักร้อนกับพนักงานมากขึ้น เพื่อกระจายความแออัดช่วงเทศกาล โดยระบุว่า หากพนักงานไม่มีโอกาสพักร้อนตามกฎหมาย บริษัทต้องชดเชยด้วยอัตราค่าจ้าง 3 เท่าตัวเช่นเดียวกัน 
 

 
สำหรับประเทศไทย วันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ที่เพิ่งผ่านพ้นไปนั้น ไม่เพียงมีความสนุกสนานและความอบอุ่นของครอบครัว แต่วันหยุดยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วย หรืออาจเรียกว่า “หยุดงานช่วยชาติ” ก็ได้
 
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ระบุว่า ในช่วงวันหยุดสงกรานต์ 5 วันที่เพิ่งผ่านพ้นไปนั้นมีนักท่องเที่ยวเดินทางรวมทั้งหมด มากกว่า 2 ล้าน 6 แสนคน และก่อให้เกิดรายได้สะพัดทั่วประเทศเฉพาะช่วงสงกรานต์ คิดเป็นมูลค่าเกือบ 1 หมื่น 5พันล้านบาท แต่ที่สำคัญคือ รายได้ 1 หมื่น 5พันล้านบาทที่เกิดขึ้นนั้น เป็นตัวเลขเฉพาะที่มาจากนักท่องเที่ยว ยังไม่รวมรายได้ที่เกิดจากการเดินทางกลับบ้าน รวมทั้งการใช้จ่ายเพื่อเฉลิมฉลอง ซึ่งคาดว่ามากกว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวด้วยซ้ำ
 
อดีตผู้นำในช่วงที่ประเทศไทยกำลังก่อร่างสร้างเศรษฐกิจ เคยให้คำขวัญว่า “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” แต่ความจริงแล้ว การทำงานมากๆเพื่อให้ได้เงินมานั้นจะไม่เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของชาติเลย ถ้าหากไม่มี “การใช้จ่าย” หรือก็คือ การหมุนเวียนของเงิน
 
คนที่เคยเรียนหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐานคงรู้ดีว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัย 4 อย่าง คือ การใช้จ่ายของภาครัฐ, การลงทุน ,การใช้จ่ายของประชาชน และการส่งออก ซึ่งนับแต่อดีตจนถึงทุกวันนี้ การลงทุนเเละการส่งออกเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หรือพูดได้ว่า เราพึ่งพาโลกภายนอกเพื่อสร้างความเติบโตของประเทศ ยืมจมูกคนอื่นหายใจมาตลอด
 
แต่ทุกวันนี้ สถานการณ์เปลี่ยนไป การส่งออกซบเซาลงตามสภาวะเศรษฐกิจโลก การลงทุนเริ่มถดถอยเพราะนักลงทุนทยอยย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนถูกกว่า ดังนั้นการใช้จ่ายของภาครัฐ และประชาชนภายในประเทศจึงเป็นกลไกใหม่ที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และยังเป็นการเจริญเติบโตที่ยืนบนขาของตัวเองอีกด้วย
 
ผลการวิจัยพบว่า ประเทศในเอเชียทั้งจีน ญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศไทย มีวันหยุดพักร้อนน้อยกว่าชาวยุโรปมาก มนุษย์เงินเดือนชาวเอเชียส่วนใหญ่มีวันหยุดพักร้อน 5-10 วัน ขณะที่ชาวยุโรปมีวันหยุดพักนานนับเดือน ผลการวิจัยยังชี้ชัดว่า วันหยุดไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานลดลง แต่ตรงกันข้าม คือ หลังได้หยุดเติมพลังให้ชีวิต พนักงานจะทำงานได้ดียิ่งขึ้น
 
วิกฤตเศรษฐกิจโลกทำให้รัฐบาลหลายชาติต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่ จากที่เคยพึ่งพาการส่งออกมาเป็นส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ แนวคิดเรื่องการ “ทำงาน” และ “ทำเงิน”ก็เปลี่ยนไป องค์กรธุรกิจหลายแห่งยินยอมให้พนักงานยืดหยุ่นวันหยุดมากขึ้น ก่อนจะเสี่ยงที่จะต้องถูกบังคับให้หยุดอย่างไม่มีกำหนด