เจ้าหญิงน้อยแห่งอังกฤษถึงวันเด็กที่ญี่ปุ่น

ชาวอังกฤษกำลังยินดีกับพระประสูติกาลของทายาทพระองค์ที่ 2 ของเจ้าชายวิลเลี่ยมและเจ้าหญิงแคทเทอรีน แต่หลายประเทศรวมทั้ง ญี่ปุ่น กำลังเผชิญปัญหา “ขาดแคลนเด็ก” ซึ่งไม่เพียงแต่บั่นทอนศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศเท่านั้น แต่ยังจะกลายเป็นบทอวสานของความกตัญญูอีกด้วย
       
พระประสูติกาลของเจ้าหญิงองค์น้อยแห่งอังกฤษใกล้เคียงกับวันเด็กของญี่ปุ่น คือ วันที่ 5 พฤษภาคม ซึ่งชาวญี่ปุ่นจะแขวนธงปลาคาร์ฟ และตกแต่งบ้านด้วยตุ๊กตานักรบ หากแต่การเฉลิมฉลองวันเด็กญี่ปุ่นกลับเงียบเหงาลงทุกปี จนเกือบจะหลายเป็นแค่วันหยุดธรรมดาเท่านั้น โดยสาเหตุสำคัญเกิดจากจำนวนเด็กของญี่ปุ่นลดลงอย่างต่อเนื่อง
       
ในประเทศญี่ปุ่นที่มีระบบสวัสดิการดีเยี่ยม การมีลูกสักคนหนึ่งหรือหลายคนไม่ถือเป็นข้อจำกัด และรัฐบาลก็ยังส่งเสริมให้ประชาชนมีทายาทเพิ่มขึ้นด้วย แต่กลับกลายเป็นว่าหนุ่มสาวส่วนใหญ่กลับไม่ต้องการมีลูก ถึงขนาดที่นายทาโร่ อาโสะ อดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น และปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีคลัง เคยกล่าวในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งว่า “ญี่ปุ่นกำลังเผชิญปัญหาคนชราที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่ปัญหาที่มากกว่า คือหนุ่มสาวที่ไม่มีลูก ซึ่งสร้างภาระให้กับประเทศ”
       
ถึงแม้จะเป็นความจริงที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับสภาพสังคมผู้สูงอายุ ทำให้รัฐบาลต้องมีภาระงบประมาณสวัสดิการสังคมจำนวนมหาศาล ขณะที่อัตราเด็กเกิดใหม่ในญี่ปุ่นมีเพียง 1.4 คนต่อแม่หนึ่งคน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการทดแทนแรงงานใหม่ และยังทำให้ผู้ที่ทำงานต้องแบกรับภาระภาษีมากขึ้นด้วย หากแต่หนุ่มสาวชาวญี่ปุ่น ระบุว่า นายทาโร่ อาโสะ ซึ่งใช้ชีวิตในตระกูลที่ร่ำรวย ไม่อาจเข้าใจชีวิตสามัญชน ที่การมีครอบครัวถือเป็นภาระอันหนักอึ้ง

คู่มือตั้งครรภ์ที่รัฐบาลญี่ปุ่นแจกให้กับคุณแม่มือใหม่

 

ในญี่ปุ่นมีปรากฏการณ์อย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า “เหินฟ้ามาคลอด” ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบผู้หญิงที่อยู่ๆก็โผล่ไปคลอดที่โรงพยาบาล โดยไม่มีการฝากครรภ์ ไม่มีการไปตรวจตามระยะเวลาที่กำหนด โดยเลือกที่จะดูแลตัวเอง จนกระทั่งเจ็บท้องคลอดก็มุ่งหน้าไปยังโรงพยาบาลโดยไม่มีการนัดหมายใดๆมาก่อน
       
แน่นอนว่าการ “เหินฟ้ามาคลอด” เช่นนี้อันตรายมาก เพราะแพทย์ไม่มีประวัติของแม่และเด็กในครรภ์มาก่อน แต่ต้องจำเป็นต้องทำคลอดเพราะสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงมีความเสี่ยงถึงชีวิตต่อทั้งแม่และเด็ก
       
สาเหตุที่หญิงสาวหลายคนเลือกวิธี “เหินฟ้ามาคลอด” ก็เพราะต้องการประหยัดค่าตรวจครรภ์ ซึ่งเป็นเงินประมาณ 1-2 แสนเยน หรือราว 5-6 หมื่นบาท โดยเสียแค่ค่าคลอดอย่างเดียวประมาณ 3-5 แสนเยน หรือราว 1-2 แสนบาท
       
แต่ที่เลวร้ายยิ่งกว่า คือยังมีหญิงสาวที่ “เหินฟ้ามาคลอด” จำนวนหนึ่งหนีออกจากโรงพยาบาลโดยไม่จ่ายค่าทำคลอด หรือทิ้งลูกไปอย่างไร้เยื่อใย จนเกิดเป็นปัญหาเด็กกำพร้าตามมาอีก
       
ถึงแม้ญี่ปุ่นจะมีสวัสดิการคืนเงินค่าคลอดให้เกือบทั้งหมด แต่สวัสดิการนี้ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดูแลครรภ์ นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ยังต้องออกค่าจ่ายใช้ทุกอย่างเองก่อน และไปเบิกเงินคืนในภายหลัง ซึ่งเป็นภาระที่ใหญ่หลวงสำหรับหนุ่มสาวที่หาเช้ากินค่ำ
       
ในแดนอาทิตย์อุทัย ซึ่งได้ชื่อว่ามีระบบสวัสดิการดีที่สุดแห่งหนึ่ง เมื่อหญิงสาวพบว่าตนเองกำลังจะเป็นคุณแม่ จะต้องไปแจ้งต่อที่ทำการอำเภอ และหลังจากขึ้นทะเบียนแล้วจะได้รับ “คู่มือคุณแม่มือใหม่” ซึ่งภายในประกอบด้วยแฟ้มประวัติการฝากครรภ์, รวมทั้งคูปองส่วนลดค่าตรวจครรภ์ ค่าวัคซีน และค่าทำฟัน นอกจากนี้ยังมีป้ายสัญลักษณ์ที่มีข้อความระบุว่า “มีเด็กตัวน้อยอยู่ในท้องของฉัน” เพื่อให้ผู้คนในสังคมให้ความเอื้อเฟื้อและระมัดระวังกับคุณแม่มือใหม่
       
อย่างไรก็ตาม คู่แต่งงานส่วนใหญ่มองว่า ภาระของพ่อแม่ยังไม่ได้ยุติอยู่เพียงการคลอดบุตร หากแต่การเลี้ยงดูและอนาคตของลูกน้อย คือ ภาระที่ยิ่งใหญ่กว่า ถึงแม้ญี่ปุ่นจะมีระบบการศึกษาที่ได้มาตรฐาน แต่ระบบสวัสดิการอันดีเยี่ยมแลกมาด้วยงบประมาณจำนวนมหาศาล ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจฝืดเคืองจึงยากยิ่งที่รัฐบาลจะรักษามาตรฐานของสวัสดิการไว้ได้

 

การขาดแคลนลูกหลานทำให้ผู้สูงอายุของญี่ปุ่นไม่มีคนดูแล หลายคนต้องจบชีวิตไปอย่างเดียวดาย ขณะเดียวกันครอบครัวที่มีลูกคนเดียว เด็กน้อยต้องรับภาระทดแทน “ความกตัญญู” ต่อคนมากถึง 6 คน คือ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ภาระที่หนักหนาเช่นนี้ ทำให้คุณธรรมสูงสุดอย่าง “ความกตัญญู” ต้องสั่นคลอน
       
ปัญหาขาดแคลนเด็กยังบั่นทอนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วย เพราะคนวัยหนุ่มสาวจะต้องแบกรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทั้งประเทศ แน่นอนว่าแรงกดดันเช่นนี้ จะทำให้คนหนุ่มสาวคำถามกับตัวเองว่า “ทำงานไปเพื่ออะไร ? ” และหากไม่มีลูกสืบสกุลด้วยเเล้ว พวกเขาก็ยิ่งไร้แรงบันดาลใจในชีวิตมากยิ่งขึ้น
       
คนไทยเคยมีค่านิยมว่า “เลี้ยงลูกไว้ฝากผีฝากไข้” ซึ่งชาวญี่ปุ่นก็เคยมีค่านิยมแบบเดียวกัน แต่ในยุคที่การเลี้ยงลูกถูกมองว่าเป็นภาระด้านค่าใช้จ่ายอันหนักอึ้ง หลายคนจึงเลือกที่จะไม่มีทายาท ซ้ำเติมให้วิกฤตขาดแคลนคนรุ่นใหม่สาหัสยิ่งขึ้น
       
วันนี้ เจ้าชายวิลเลี่ยมและเจ้าหญิงเคทคงจะเข้าใจคำกล่าวโบราณที่ว่า “มีลูกเติมเต็มทุกสิ่ง” เพราะเด็กไม่เพียงแต่เติมเต็มความเป็น ครอบครัว แต่เด็กคืออนาคต ในขณะที่ผู้ใหญ่นับวันจะกลายเป็นอดีต สังคมและประเทศชาติที่ไม่มีเด็กจึงไม่มีอนาคต และจะถูกอดีตกลืนกินไปทุกเมื่อเชื่อวัน.

ที่มา : http://manager.co.th/Japan/ViewNews.aspx?NewsID=9580000050524