วิจัยพบเพื่อนเยอะในโลกโซเชียล แต่ไร้ความสุขในชีวิตจริง

การเล่นโซเชียลมีเดียอาจเคยถูกกล่าวหาว่าทำให้ผู้เล่นหลายคนเสียสุขภาพจิตโดยไม่มีการวิจัยยืนยัน แต่ล่าสุด Joseph Grenny และ David Maxfield สองผู้เขียนหนังสือเบสต์เซลเลอร์อย่าง Crecial Conversations ก็ได้เผยผลการศึกษาใหม่ของตนเองที่พบว่า การคลิกปุ่มไลก์ (Like) และการต้องการได้รับการยอมรับ หรือการยกย่องจากผู้เล่นโซเชียลมีเดียรายอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์โดยตรง
       
การศึกษานี้มาจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้เล่นโซเชียลมีเดีย 1,623 ราย โดยพบว่า 58 เปอร์เซ็นต์ของคนกลุ่มนี้ รู้สึกว่าการหาภาพที่ดีที่สุด และสมบูรณ์แบบที่สุดเพื่อโพสต์ลงในโซเชียลมีเดียทำให้พวกเขาไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า
       
ประโยคด้านบนอาจฟังดูประหลาดไปบ้าง แต่ลองนึกภาพการเข้าชมคอนเสิร์ตดีๆ สักรายการหนึ่ง หรือการไปเที่ยวในสถานที่ที่น่าประทับใจ เช่น ไปชมวิวพระอาทิตย์ตกดิน แต่ผู้คนต่างพากันถ่ายภาพแล้วก็มัวก้มหน้าก้มตาโพสต์ภาพในโซเชียลมีเดีย กว่าจะเงยหน้าขึ้นมาอีกที ช่วงเวลาสำคัญที่ควรจะดื่มด่ำกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้มากที่สุดก็ผ่านไปเสียแล้ว
       
ทั้ง Grenny และ Maxfield ให้คำจำกัดความผู้เล่นโซเชียลมีเดียว่า ไม่ต่างกับนักล่ารางวัลที่ตามล่าหาบางสิ่งบางอย่าง เมื่อได้มาแล้วก็นำมาสตัฟฟ์เอาไว้ดูเล่นบนกำแพงบ้าน
       
นอกจากนี้ ใน 91 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า พวกเขารู้สึกพลาดโอกาสดีๆ ไปเพราะพยายามถ่ายภาพเพื่อโพสต์ในโซเชียลมีเดีย
       
“ในขณะที่ฉันพยายามถ่ายภาพลูกสาวในงานกิจกรรม (การเต้น) แล้วโพสต์ภาพนั้น ฉันก็พลาดที่จะได้ดูมันไปแล้ว เมื่อเธอถามฉันว่า แม่เห็นหนูไหม แต่ฉันไม่ได้ตั้งสติอยู่กับลูก มันน่าเศร้ามาก” ผู้ตอบแบบสอบถามรายหนึ่งเผย
       
สามในสี่ของผู้ตอบแบบสอบถามยังยอมรับว่า ตนเองไม่มีมารยาทต่อผู้อื่น เนื่องจากมัวแต่สนใจกับโทรศัพท์มากกว่าคนที่อยู่ตรงหน้า และมีถึง 1 ใน 4 ที่ยอมรับว่า พวกเขาเมินเพื่อนสนิทไปเลย และเล่นสมาร์ทโฟนในมือแทน
       
ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามรายหนึ่งเผยว่า เคยเห็นนักท่องเที่ยวควักสมาร์ทโฟนออกมาถ่ายภาพเซลฟี่กันกลางถนนฮอลลีวูดที่แสนจะวุ่นวายด้วย
       
ไม่เฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ต้องการเก็บภาพดีๆ จนทำให้คนรอบข้างต้องประสบปัญหา พ่อแม่หลายคนเองก็ไม่ทันตระหนักถึงเรื่องดังกล่าวเช่นกัน เช่น แม่คนหนึ่งเผยผ่านแบบสอบถามว่า เธอเคยสอนลูก แต่เขาไม่ยอมรับ และแสดงอารมณ์เกรี้ยวกราด เธอจึงถ่ายวิดีโอเขาไว้ และโพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย แต่หลังจากโพสต์เธอถึงนึกขึ้นได้ว่า เธอไม่น่าทำเลย
       
นอกจากนั้น ผู้ตอบแบบสอบถาม 79 เปอร์เซ็นต์ยังระบุว่า พวกเขาเคยเห็นพ่อแม่ทำลายชีวิตในวัยเด็กของลูกๆ เพียงเพราะต้องการให้โพสต์นั้นๆ ได้รับยอดไลก์ถล่มทลายด้วย
       
“คุณอาจมีเพื่อนมากมาย คุณอาจมียอดไลก์เยอะแยะ คุณอาจเช็กแอ็กเคานต์บ่อยๆ แต่ลึกๆ แล้ว คุณก็ยังคงรู้สึกว่างเปล่า” มร. Maxfied เผยปิดท้าย

ที่มา : http://manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9580000050135