6 ขั้นตอนสร้างธุรกิจวัยเรียนง่ายๆ..พารวยไม่รู้ตัว!!

แน่นอนว่าวัยเรียนที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการหรือต้องการมีธุรกิจเป็นของตัวเองมักสนใจวิธีที่ทำให้ประสบความสำเร็จมากกว่าจะดึงศักยภาพและทักษะของตัวเองออกมาใช้กับธุรกิจ ดังนั้นสำหรับน้องๆ คนไหนที่อยากเริ่มต้นทำธุรกิจเป็นของตัวเองตั้งแต่ยังเรียนอยู่ ตามทีมงาน Life on Campus มาดูขั้นตอนดีๆ สู่การเป็นเศรษฐีวัยเรียนกันได้เลย..
โดยเว็บไซด์ http://wbsa.co.uk/ ของประเทศอังกฤษได้คิดค่าเฉลี่ยของการทำธุรกิจในวัยเรียนว่า มีเพียง 10 % เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ส่วนคนที่เริ่มต้นวางแผนการทำธุรกิจก่อนเรียนจบคิดเป็น 17 % และคนที่คิดวางแผนการทำธุรกิจเป็นของตัวเองหลังจบการศึกษาคิดเป็น 27 % จะเห็นได้ว่าเปอร์เซ็นต์การเริ่มต้นทำธุรกิจน้อยคนนักที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจในขณะที่ยังเรียนอยู่ และประสบความสำเร็จกับกิจการของตัวเองตั้งแต่ในรั้วมหา’ลัย

ประเมินตัวเองก่อน!

“ความเสี่ยงที่ใหญ่หลวงที่สุดคือการไม่ยอมเสี่ยงอะไรเลย บนโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้ สิ่งเดียวที่เป็นเครื่องยืนยันถึงความล้มเหลวนั้นคือการไม่กล้าเสี่ยงกับอะไรเลย – The biggest risk is not taking any risk. In a world that changing really quickly, the only strategy that is guaranteed to fail is not taking risks.” – มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก, หนึ่งในผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารคนปัจจุบันของเฟซบุค
จากข้อคิดดีๆ ของผู้ก่อตั้งโซเชียลมีเดียสุดฮิตชื่อดังระดับโลกอาจเป็นอีกหนึ่งประโยคสั้นๆ ที่ช่วยสร้างแรงกระตุ้นและปลุกแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนได้ไม่มากก็น้อย และสำหรับการเริ่มต้นที่ดีนั้นคือการสำรวจคุณสมบัติและความสามารถของตัวเองก่อนว่า เรามีความถนัด, ความรู้-ความสามารถ และมีทักษะในด้านใดบ้าง
ตามหลักความเป็นจริงแล้ว ทุกคนล้วนอยากมีประสบการณ์การทำงานที่เหมาะสมเกี่ยวกับธุรกิจของตัวเองกันทั้งนั้นเพื่อที่ว่าจะให้มันสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี แต่ไม่ต้องกังวลใจกับความเสี่ยงเหล่านั้นหรอก หากเรามีความตั้งใจแน่วแน่มากพอ รับรองว่ามันจะต้องผ่านไปได้ด้วยดีแน่นอน!
ความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดสินค้า

การมีความคิดสร้างสรรค์ในการทำธุรกิจที่ดีนั้นสามารถบ่งบอกถึงความต้องการและความพึงพอใจได้เป็นอย่างดี ดังนั้นจึงควรประเมินความคิดสร้างสรรค์ในตัวเราก่อน จากแบบทดสอบคำถามเหล่านี้ ล้วนมีส่วนช่วยในการตัดสินใจเริ่มต้นทำธุรกิจของน้องๆ วัยเรียนได้เป็นอย่างดี ตามมาดูแบบทดสอบคำถามทางธุรกิจกันเลยดีกว่า..
– ความสามารถในการซื้อสินค้าและบริการของคุณมีเพียงพอหรือเปล่า
– คุณสามารถตอบความต้องการของตลาดได้หรือไม่
– ผู้คนจะพอใจในสินค้าและบริการของคุณหรือไม่
– สินค้าและบริการของคุณมีจุดเด่นจุดขายอะไรที่น่าสนใจบ้าง
– คุณมีความตระหนักถึงความเป็นไปได้ที่จะขาดทุน หรือมีขีดจำกัดในเรื่องต่างๆ หรือไม่
หากตอบ “ใช่” ทั้งหมดนี้แสดงว่าสินค้าและบริการของเราเป็นที่น่าสนใจ และสามารถพัฒนาต่อยอดสร้างธุรกิจเป็นของตัวเองได้ แต่หากตอบ “ไม่” แสดงว่าแผนการธุรกิจของเรายังไม่หนักแน่นพอจึงควรพัฒนาต่อไปนั้นเอง
ศึกษาคู่แข่งทางการตลาด! 

สิ่งสำคัญของการเริ่มต้นทำธุรกิจนั้นคือ การสำรวจและศึกษาคู่แข่งทางการตลาดของเรา ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ในการสำรวจมีทั้งแบบออนไลน์ ด้วยการค้นหาผ่านเว็บเสิร์ชเอ็นจินต่างๆ โดยการกรอกคีย์เวิร์ดหรือวลีที่เกี่ยวกับสินค้าและบริการของเราลงไป จากนั้นผลการค้นหาที่ปรากฏจะเป็นบริษัทหรือเจ้าของธุรกิจรายใหญ่ๆ ซึ่งมีส่วนช่วยในการสร้างไอเดีย และทำให้เราทราบว่าคู่แข่งของเรามีใครบ้าง
นอกจากนี้ยังสามารถศึกษาคู่แข่งผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ เช่นตามใบโฆษณา นิตยสาร และหนังสือพิมพ์ต่างๆ ล้วนให้ข้อมูลด้านการค้าและข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจต่างๆไว้ ดังนั้นเมื่อเราศึกษาคู่แข่งทางการตลาดแล้วสิ่งสำคัญคือการสำรวจจุดแข็ง-จุดอ่อนของคู่แข่งของเราว่ามีอะไรบ้าง และนำมาปรับใช้กับธุรกิจของเราต่อไปนั้นเอง
สำหรับการโปรโมตสินค้าและบริการก็สามารถทำได้ง่ายๆ ผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ได้อย่างไม่ต้องลงทุนใดๆ ถือเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ข้อมูลสินค้าและบริการของเราได้ด้วยวิธีที่รวดเร็วและทันสมัยเหมาะกับสังคมคนเมืองในยุคนี้อีกด้วย
วางแผนให้ดี…ธุรกิจเกิดแน่!

“นักธุรกิจที่ดีจะต้องสร้างวิสัยทัศน์ และชัดเจนกับมัน รวมถึงมีความหลงใหลในวิสัยทัศน์ของตนเอง และมีความพยายามอย่างไม่ลดละเพื่อที่จะบรรลุความสำเร็จนั้นให้ได้ – Good business leaders create a vision, articulate the vision, passionately own the vision, and relentlessly drive it to completion.” – Jack Welch อดีตผู้ก่อตั้งบริษัท General Electric
แน่นอนว่าแผนการทำธุรกิจของน้องๆ วัยเรียนนั้น ควรเริ่มต้นจากคิดขั้นตอนการทำธุรกิจก่อน ด้วยการศึกษาโครงสร้างและรายละเอียดของตัวสินค้าและบริการของเรา จากนั้นศึกษาคู่แข่งทางการตลาดและกลุ่มลูกค้า และจะต้องคิดก่อนว่าเราจะสร้างฐานฐานลูกค้าได้อย่างไรบ้าง ขั้นตอนต่อไปคือการสร้างทีมเวิร์คที่เข้มแข็ง โดยการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบให้เหมาะสมกับแต่ละคน สังเกตความถนัดและจำแนกหน้าที่นั้นๆ และถึงแม้ว่าจะมีอุปสรรคเกิดขึ้นแต่ขอให้มั่นใจไว้ว่ามันคือสัญญาณบอกถึงความสำเร็จที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นเอง
หาที่ปรึกษาดีๆ สักคน! 

สองหัวดีกว่าหัวเดียว! คำกล่าวนี้ได้ผลเสมอ ยิ่งหากใครคิดแผนการใหญ่เริ่มก่อตั้งทำธุรกิจในวัยเรียนแล้วนั้น ย่อมต้องการมีที่ปรึกษาดีๆ ให้คำแนะนำ เพราะลำพังนิสิตนักศึกษาอย่างเราคงไม่มีประสบการณ์และความชำนาญเพียงพอที่จะวางแผนหรือลงมือทำอย่างไม่มีการชี้แนะใดๆ ได้อย่างแน่นอน ดังนั้นการหาที่ปรึกษาที่มีความรู้และประสบการณ์ให้คำแนะนำล้วนเป็นผลดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบุคคลที่เป็นผู้ประสบความสำเร็จและมีความคิดออกนอกกรอบช่วยกระตุ้นแรงบันดาลใจให้แก่เรา
สำหรับทางมหาวิทยาลัยนั้น อาจมีการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโครงการการทำธุรกิจแก่นิสิตนักศึกษาที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามน้องๆ สามารถหาประสบการณ์เพิ่มเติมได้ด้วยการพูดคุยกับผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์โดยตรงได้ด้วยอีกทางหนึ่งนั้นเอง
จดทะเบียนธุรกิจของเราซ่ะ!

การจดทะเบียนธุรกิจจะช่วยให้ธุรกิจของเราถูกต้องตามนโยบายสำนักงานสรรพากรและศุลกากร และถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่เราจะต้องพิจารณาให้ดีแล้วว่ารูปแบบของธุรกิจที่เหมาะสมกับเรามากที่สุด เช่น การเป็นผู้ประกอบการแต่เพียงผู้เดียว คือมีเราเป็นเจ้าของธุรกิจเพียงคนเดียว ซึ่งต้องมีความสามารถในการจัดการและทำธุรกิจด้วยตัวเองได้ด้วย ต่อมาเป็นธุรกิจแบบบริษัทจำกัด และแบบห้างหุ้นส่วน ซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนผลกำไรระหว่างหุ้นส่วนของเราได้นั้นเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก http://www.lifehack.org