จับให้มั่น ! เทรนด์ ‘เศรษฐกิจแบ่งปัน’ ครองตลาดธุรกิจยุคดิจิทัล

PwC ชี้เทรนด์เศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy)  พลิกโฉมธุรกิจยุคดิจิทัล เมื่อเทคโนโลยีเชื่อมโลกทั้งใบเข้าหากัน ส่งผลให้ผู้คนหันมาแชร์ทรัพยากรผ่านอินเตอร์เน็ตมากขึ้น ผู้บริโภคยุคใหม่เข้าถึงสินค้าและบริการด้วยการเช่า-ยืม แทนการซื้อไว้เพื่อครอบครอง คาดดันมูลค่าตลาดของธุรกิจกลุ่มนี้แตะ 11 ล้านล้านบาท ภายใน 10 ปี ธุรกิจไทยหันมาทำแชร์ริ่งอีโคโนมี่มากขึ้น สอดรับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล

วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) เปิดเผยถึงผลสำรวจ The Sharing Economy ที่ได้ทำการสำรวจผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา จำนวน 1,000 รายว่า ปัจจุบันกระแสเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) กำลังถูกพูดถึงในวงกว้าง และมีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัลเป็นอย่างยิ่ง โดยคาดการณ์ว่า ในปี 2568 กลุ่มอุตสาหกรรมที่นำแนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปันมาปรับใช้กับธุรกิจ ได้แก่ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (Travel) ธุรกิจให้บริการโดยสารทางรถยนต์รถเช่าและแบ่งปันรถยนต์กันใช้ (Car sharing) ธุรกิจการเงิน (Finance) ธุรกิจจัดหาบุคคลเข้าทำงาน (Staffing) และธุรกิจบริการเพลงหรือวิดีโอแบบสตรีมมิ่ง (Music and video streaming) จะช่วยผลักดันให้มูลค่าของตลาดแชร์ริ่งอีโคโนมี่เติบโตถึง 11 ล้านล้านบาท (3.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) จากปัจจุบันที่ราว 5 แสนล้านบาท

 
สำหรับโครงสร้างธุรกิจแบบ Sharing Economy หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อการบริโภคชนิดร่วมมือกัน (Collaborative Consumption) และการทำธุรกิจจากเพื่อนสู่เพื่อน (Peer to Peer: P2P) เป็นการทำธุรกิจในรูปแบบใหม่ ซึ่งช่วยให้บุคคลหรือองค์กรสามารถสร้างรายได้จากสิ่งของหรือทรัพย์สินที่ตนมีมากเกินความจำเป็นหรือไม่ได้ใช้แล้ว (Excess capacity) ผ่านการให้บริการบนแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ แท็ปเล็ต หรือสมาร์ทโฟน เพื่อเชื่อมต่อระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการในการเข้าถึงสินค้าหรือบริการ โดยผู้รับบริการจะอาศัยข้อมูลบนเครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นพื้นฐานที่ช่วยในการตัดสินใจ ตั้งแต่รถยนต์ ห้องพัก ไปจนถึง เสื้อผ้า ของมือสอง และ กระเป๋าแบรนด์เนม ฯลฯ ในระดับกว้างขวาง ซึ่งทั้งหมดเป็นไปได้เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่

ตัวอย่างของธุรกิจยอดฮิตแบบ Sharing Economy ที่กำลังเป็นกระแสในสังคมออนไลน์ทั่วโลก ได้แก่ บริษัท Airbnb ตลาดชุมชนที่ผู้เข้าพักสามารถจองที่พักจากเจ้าของที่พัก โดยเน้นการนำเสนอประสบการณ์ของผู้เข้าพักและเจ้าของที่พัก และเชื่อมโยงคนที่มีพักว่างกับคนที่กำลังมองหาที่พักเข้าหากัน ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการโดยเฉลี่ยกว่า 425,000 รายต่อคืน  และมีเครือข่ายการให้บริการใน 190 ประเทศทั่วโลก ถือเป็นหนึ่งในบริษัท Start-up ที่เติบโตและประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วที่สุดบริษัทหนึ่งในตลาดนี้

ในขณะที่ Spotify ผู้ให้บริการเพลงแบบสตรีมมิ่งมีผู้ใช้งานทั่วโลกกว่า 40 ล้านราย และ Uber ถือเป็นบริษัทผู้ให้บริการรถแท็กซี่ในรูปแบบรถลิมูซีนรายใหญ่ของโลก ที่ใช้การเรียกบริการผ่านแอพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน และมีบทบาทสำคัญในการพลิกโฉมการดำเนินธุรกิจในรูปแบบ Sharing Economy และแม้ว่า Uber จะถูกตรวจสอบจากสาธารณชน เกิดการประท้วง คดีความ และข้อโต้แย้งทางกฎหมายต่างๆในหลายๆประเทศในช่วงที่ผ่านมา แต่แท็กซี่หรู Uber ก็ยังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคและสามารถขยายกิจการไปได้ใน 250 ประเทศทั่วโลกได้ในเวลาเพียง 5 ปี และมีมูลค่าบริษัทกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ มากกว่ามาร์เก็ตแคปของสายการบินอเมริกันบางราย

“ประโยชน์ที่ผู้บริโภคได้รับจาก Sharing Economy คือ ประหยัดเวลา ประหยัดสตางค์ และช่วยให้การดำเนินชีวิตประจำวันเป็นเรื่องง่าย มากไปกว่านี้ เทคโนโลยียังช่วยจับคู่ความต้องการของผู้บริโภคให้ตรงกับอุปทาน หรือทรัพยากรที่มีอยู่ในตลาดได้ง่าย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” วิไลพร กล่าว

นอกจากนี้ การทำธุรกิจแบบ Sharing Economy ยังช่วยให้แนวคิดหรือพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปโดยหันมาให้ความสำคัญกับคุณค่า (Value) ของสินค้าและบริการนั้นๆมากขึ้นว่าคุ้มค่าต่อเวลา จำนวนเงินในกระเป๋า และสิ่งแวดล้อมรอบตัวหรือไม่ และช่วยลดการใช้ทรัพยากรที่จำกัดอย่างฟุ่มเฟือย
 
ผลการศึกษายังพบว่า

81% ของผู้บริโภคชาวอเมริกันที่ถูกสำรวจมองว่า การแบ่งปันหรือแลกเปลี่ยนสมบัติและสิ่งของระหว่างกันคุ้มค่ากว่าการซื้อมาครอบครอง

83% เห็นด้วยว่า การแชร์ทรัพยากรระหว่างกันช่วยทำให้ชีวิตสะดวกสบายและใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

43% เชื่อด้วยว่า ยิ่งครอบครองหรือเป็นเจ้าของสิ่งต่างๆจำนวนมากๆมีแต่จะเป็นภาระ

76% บอกว่า Sharing Economy เป็นการดำเนินธุรกิจที่มีส่วนช่วยในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง

‘ความไว้วางใจ’ หัวใจของแชร์ริ่งอีโคโนมี่

ประเด็นเรื่องความไว้วางใจ (Trust) ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายโครงสร้างธุรกิจแบบ Sharing Economy มากที่สุด เพราะผูกติดไปกับประเด็นเรื่องของความปลอดภัย ธุรกิจในลักษณะนี้เน้นการแชร์ หรือแบ่งปันทรัพยากรผ่านอินเตอร์เน็ต ใช้สินค้าและบริการกับคนแปลกหน้า ไม่ว่าจะผู้ที่นำรถมาให้บริการรับส่ง หรือผู้ที่เปิดบ้านให้เช่า รวมไปถึงผู้ที่เข้ามาใช้บริการเอง ดังนั้น ธุรกิจลักษณะนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากผู้ประกอบการไม่สามารถหามาตรการสร้างความไว้วางใจต่อการให้บริการ เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าจะไม่โดนโกง หรือถูกทำร้ายจากมิจฉาชีพที่แอบแฝงมา

“ผู้ประกอบการต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยในการให้บริการ รวมไปถึงมีเครื่องไม้ เครื่องมือในการตรวจสอบประวัติของพนักงาน รวมทั้งนำข้อมูลที่ได้จากประสบการณ์การใช้งานจริงของลูกค้า ที่มาเขียนรีวิวหรือให้ฟีดแบ็กไว้บนสังคมออนไลน์หรือบนแอพพลิเคชั่นนั้นๆมาประมวลผล เพื่อปรับปรุงความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะสะท้อนกลับมาถึงชื่อเสียงของผู้ให้บริการรายนั้นๆในที่สุด”

ผลจากการสำรวจพบว่า 69% ของผู้ถูกสำรวจกล่าวว่าจะเชื่อถือบริษัทที่ให้บริการธุรกิจแบบแชร์ริ่งอีโคนีมี่ก็ต่อเมื่อมีบุคคลที่ตนเชื่อถือมาแนะนำเท่านั้น

แชร์ริ่งอีโคโนมี่ มาไทยแน่



ที่ผ่านมาธุรกิจแบบ Sharing Economy เติบโตอย่างมีนัยสำคัญในประเทศไทยไม่แพ้ชาติอื่นๆ เห็นได้จากการที่คนไทยเข้าไปแชร์ที่พัก หรือใช้บริการที่พักผ่านแอพมากขึ้น หรือแม้แต่การใช้บริการแท็กซี่ผ่านแอพก็มีมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการให้เลือกอยู่หลายรายด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น Easy Taxi, Grab Taxi, Uber หรือ All Thai Taxi ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นในวงการแท็กซี่ไทย


เชื่อว่าการที่ไทยกำลังปรับเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลตามนโยบายของภาครัฐ จะกระตุ้นให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานไอที รวมถึงกลยุทธ์การทำตลาด หรือโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น เชื่อว่า ในอนาคตอันใกล้ จะเห็นธุรกิจไทยเป็นแบบ Sharing Economy มากยิ่งขึ้น โดยภาคส่วนต่างๆ จะเชื่อมเข้าหากัน และภาคธุรกิจจะแบ่งปันหรือใช้ทรัพยากรร่วมกันเพิ่มมากขึ้น


แม้ว่าการทำธุรกิจในรูปแบบ Sharing Economy จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพลิกโฉมธุรกิจในหลายๆ อุตสาหกรรมในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ การบริการและการท่องเที่ยว ค้าปลีก สื่อบันเทิง และสื่อสาร แต่ประเด็นในเรื่องคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าและบริการ ยังคงเป็นโจทย์ข้อใหญ่ที่เป็นการบ้านให้หลายๆ องค์กรต้องนำไปขบคิด โดยผู้บริโภคถึง 72% ต่างกล่าวว่า ความสม่ำเสมอของคุณภาพสินค้าและบริการเป็นสิ่งที่พวกเขากังวลมากที่สุดในการใช้บริการธุรกิจในรูปแบบนี้


“ตลาดแชร์ริ่งอีโคโนมี่ในไทยจะมีแนวโน้มที่สดใสและน่าจะเติบโตครอบคลุมในหลาย Sector แต่ ผู้ประกอบการ ต้องรีบปรับตัว โดยทำความเข้าใจถึงพฤติกรรม และอำนาจการใช้จ่ายที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคยุคดิจิทัลตั้งแต่วันนี้ และที่ขาดไม่ได้คือต้องปรับกลยุทธ์ทางการตลาดให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว”


วิไลพร กล่าวทิ้งท้ายว่า การปรับกลยุทธ์ของภาคธุรกิจนั้นไม่ได้จำกัดเพียงแค่ในแง่ของการทบทวนค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ สินทรัพย์ หรือทรัพยากรขององค์กร ว่าได้ถูกนำมาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพหรือไม่ แต่รวมไปถึงความสามารถในการพัฒนาและปฏิรูปนโยบายของตนให้ทันสมัยและสอดรับกับข้อกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคดิจิทัล เพื่อหลีกเลี่ยงข้อพิพาทต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็น