"สื่อ” มีหนาว แอปเปิลมีแผนส่งแอป “News” ใบไม้ร่วงนี้

ไม่เฉพาะเฟซบุ๊ก (Facebook) ที่หันมาจับธุรกิจสื่อด้วยการเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ Instant Articles พร้อมจับมือสื่อยักษ์ใหญ่ 9 รายให้นำบทความมาเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก เพราะในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ ผู้ใช้บริการ “ไอโฟน” (iPhone) และ “ไอแพด” (iPad) ก็เตรียมได้ยลโฉมแอปใหม่จากแอปเปิล (Apple) ในนาม “นิวส์” (News) แล้วเช่นกัน
       
เรียกได้ว่าเป็นแนวคิดที่ก้าวตามเฟซบุ๊กมาติดๆ กับแอปใหม่ของแอปเปิลอย่าง “News” แม้การขยับตัวครั้งนี้ของแอปเปิลจะไม่ใช่การสร้างนวัตกรรมให้แก่วงการ เพราะมีแอปจำนวนมากให้บริการข่าวอยู่แล้ว และทำมานานแล้วด้วย แต่นี่คือสัญญาณเตือนครั้งสำคัญที่วงการสื่อต้องตระหนัก เพราะการเข้ามาของแบรนด์อันดับหนึ่งของโลกอย่างแอปเปิลย่อมส่งผลกระทบไม่มากก็น้อย
       
สิ่งที่น่าจะได้พบอย่างชัดเจนก็คือ ความสามารถในการควบคุมสื่อในมือของบรรดาเว็บไซต์ข่าวนั้นเป็นไปได้ว่าจะลดน้อยถอยลง รวมถึงการสามารถในการควบคุมการเผยแพร่คอนเทนต์ หากผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ด้วยการอ่านข่าวผ่านแอป “News”
       
เพราะสำหรับวงการสื่อในปัจจุบัน การเข้าถึงสื่ออาจมาได้จากหลายทาง เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ (Twitter) หรือมาจากการเสิร์ชหาข่าวผ่านกูเกิล (Google) ซึ่งรูปแบบการเข้าถึงคือมาจากการคลิกลิงก์บนแพลตฟอร์มนั้นๆ (เช่น คลิกลิงก์ที่เพื่อนโพสต์เอาไว้ในเฟซบุ๊ก) และเข้ามาถึงหน้าข่าวบนเว็บไซต์เพื่ออ่านเนื้อหาฉบับเต็ม แต่นั่นไม่ใช่แนวทางของ แอป News ของแอปเปิล เพราะสำหรับแอป News ผู้อ่านสามารถอ่านได้โดยตรงจากในแอปเลย
       
ยกตัวอย่างเช่น ผู้ใช้อาจเปิดอ่านบทความของนิวยอร์กไทม์ หรือ CNN ได้ผ่านแอป News โดยตรง ไม่ต้องเข้าไปที่เว็บไซต์ของนิวยอร์กไทม์ หรือ CNN อีกต่อไป และนั่นไม่ต่างกับสิ่งที่เฟซบุ๊กทำบน Instant Articles เสียด้วย ผลก็คือ หากแอปเปิลและเฟซบุ๊กสามารถสร้าง “ไลฟ์สไตล์” ใหม่ให้แก่ผู้บริโภคได้ อนาคตของเว็บไซต์ข่าวอาจถึงคราวอวสาน 
       
“ความรู้สึกของเราเหมือนกับการสูญเสียโอกาสในการควบคุมไป ลองนึกถึงสมัยที่ทำหนังสือพิมพ์ก่อนที่จะมาเป็นเว็บ เราสามารถควบคุมทุกอย่างทั้งการขายโฆษณา การพิมพ์ การจัดจำหน่าย กระทั่งรถส่งหนังสือพิมพ์ อยู่ในความควบคุมของบริษัททั้งหมด” โจชัว เบนตัน (Joshua Benton) ผู้อำนวยการของ Nieman Journalism Lab เผย
       
“เมื่อมาสู่โลกออนไลน์ กระบวนการเหล่านั้นถูกเปลี่ยนมือ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความกังวลว่าเฟซบุ๊ก แอปเปิล และกูเกิลจะเข้ามามีบทบาท และมีศักยภาพในการควบคุมได้เพิ่มสูงขึ้น”
       
พร้อมกันนั้น เบนตัน ยังได้ยกตัวอย่างโซเชียลมีเดียอย่าง Snapchat ที่เปิดให้ผู้ผลิตนิตยสารสามารถบันทึกคลิปวิดีโอของตนเอง และเผยแพร่ได้โดยตรงผ่านฟีเจอร์ Discover ของ Snapchat แทนการนำคลิปมาโพสต์ และแชร์เหมือนในอดีต
       
“นี่คือเทรนด์ที่เห็นได้อย่างเด่นชัดในปี ค.ศ.2015 หลังจากที่ผ่านมา เราปล่อยให้บรรดาแพลตฟอร์มทั้งหลายสะสมอำนาจ และอิทธิพลเอาไว้จนเต็มที่ นี่ก็ถึงเวลาที่พวกเขาจะใช้อำนาจที่มีกันแล้ว ส่วนสำนักพิมพ์ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะรู้สึกเหมือนตนเองตกเป็นเหยื่อของการเปลี่ยนแปลง” 

แม้การปรับเปลี่ยนครั้งนี้อาจทำให้วงการสื่อรู้สึกเหมือนถูกคุกคาม แต่สำหรับผู้บริโภคแล้วอาจไม่ใช่ก็เป็นได้ เพราะสิ่งที่แอปเปิล และเฟซบุ๊กทำคือ การทำให้ผู้ใช้งานของตนเองสามารถเข้าถึงข่าว และบทความต่างๆ ได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น และเพื่อให้แพลตฟอร์มของตนเองได้รับความนิยมมากขึ้นนั่นเอง
       
นอกจากนี้ ทางแอปเปิลยังได้เผยว่า บรรดาสำนักพิมพ์ออนไลน์เหล่านั้นยังสามารถเก็บรายได้ 100 เปอร์เซ็นต์จากโฆษณาที่พวกเขาขายได้เช่นเดิม แต่ถ้าสนใจมากไปกว่านั้น แอปเปิลก็มีแพลตฟอร์มโฆษณาของตนเองในชื่อ “iAd” ให้บริการขายโฆษณาให้ โดยสำนักพิมพ์จะได้รับส่วนแบ่ง 70 เปอร์เซ็นต์
       
หลายคนอาจคุ้นๆ ว่าเป็นแนวทางเดียวกับเฟซบุ๊ก ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่เหมือน เพราะเฟซบุ๊กเองก็ใช้แนวทางเดียวกัน มีบริการขายโฆษณาให้เช่นกัน และสำนักพิมพ์ได้รับเงินค่าโฆษณา 70 เปอร์เซ็นต์เหมือนกัน แต่ที่เด่นกว่าคือ เฟซบุ๊กจะแถมข้อมูลวิเคราะห์ผู้อ่านมาให้ทางสำนักพิมพ์ด้วย เพื่อให้ทางสำนักพิมพ์ไม่รู้สึกว่าพวกเขากับผู้อ่านถูกเฟซบุ๊กเข้ามาคั่นกลางเอาไว้นั่นเอง
       
อย่างไรก็ดี ในขณะที่มือหนึ่งเหมือนจะโอบอุ้มบรรดาผู้ผลิตคอนเทนต์ แต่อีกมือหนึ่งของแอปเปิลก็ถือหวายเอาไว้รอเฆี่ยนด้วยการเปิดให้ผู้อ่านเลือกได้ว่าจะบล็อกโฆษณาในการใช้งานเบราเซอร์ “ซาฟารี” (Safari) และ iOS 9 หรือไม่ 
       
กระนั้น หากมองด้วยใจเป็นธรรม โจชัว เบนตัน ก็ยังเผยว่า ดีกว่าแอปเปิลตัดสินใจบล็อกโฆษณาเสียเอง “เพื่อความเป็นธรรม แอปเปิลไม่ใช่คนที่ลงมาบล็อกโฆษณา แต่เป็นสิ่งที่ผู้ใช้งานตัดสินใจเอง”
       
ยังมีคำถามอีกมากมายที่จะตามมาหลังบริการดังกล่าวเปิดใช้อย่างเป็นรูปธรรม ยกตัวอย่างเช่น หากมีข่าวในแง่ลบเกี่ยวกับแอปเปิล และเฟซบุ๊ก ข่าวเหล่านั้นจะได้รับการเผยแพร่อยู่หรือไม่บนแพลตฟอร์มของแอป News และเฟซบุ๊ก Instant เพราะมีรายงานว่า แอปเปิลได้ว่าจ้างบรรณาธิการมาคัดเลือกข่าวแทนการปล่อยให้เป็นหน้าที่ของอัลกอริธีม ซึ่งนั่นทำให้เห็นว่า แอปเปิลมีการคัดเลือกข่าวที่จะเผยแพร่ และผู้อ่านจะได้อ่านในสิ่งที่มุมมองของบรรณาธิการจากแอปเปิลเห็นว่ามันเป็นข่าว ไม่ใช่สิ่งที่ผู้บริโภคเลือกได้เอง 

ที่มา : http://manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9580000070199