ล้วงเคล็ดลับสุดยอด “ครีเอเตอร์” ขายสติ๊กเกอร์ ‘ไลน์’ ให้ได้ ‘ล้าน’

การออกแบบและขาย “สติ๊กเกอร์” ในแอพพลิเคชั่น “ไลน์” (Line) กลายเป็นเวทีให้นักสร้างสรรค์การ์ตูน หรือ “ครีเอเตอร์” (Creator) เกือบ 4 แสนรายทั่วโลก ทั้งหน้าเก่า หน้าใหม่ มืออาชีพและมือสมัคร แห่นำเสนอผลงาน ขายสร้างรายได้ เป็นอาชีพเสริม และบางคนเติบโตจนกลายเป็นธุรกิจหลัก ทำเงิน “ล้านบาท” ได้ในเวลาไม่ถึงปี

แน่นอน เมื่อตัวเลือกมาก การแข่งขันย่อมเข้มข้น สติ๊กเกอร์ที่จะเข้าตา แจ้งเกิดมียอดโหลดปริมาณสูง ต้องพิเศษระดับใส่ไข่ อย่างใน “3สุดยอดครีเอเตอร์” ที่มาถ่ายทอดประสบการณ์ กลวิธี ตลอดจนแนวคิด ที่ช่วยส่งให้สติ๊กเกอร์ของพวกเขา ยอดขายสูงติดอันดับต้นๆของประเทศไทย

“ติดลม” ควายซื่อหัวใจไทย ชูตลาดนำการออกแบบ
      
ในความเป็นจริงคาแรคเตอร์ตัวการ์ตูน “ติดลม” (Tidlom) ควายหนุ่มบุคลิกแสนซื่อ เอวคาดผ้าขาวม้า ปลายหางเป็นรูปหัวใจ ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 แล้ว จากฝีมือ “สัญญา เลิศประเสริฐภากร” เพื่อเข้าประกวดในงานไทยแลนด์แอนิเมชั่น แอนด์ มัลติมีเดีย หรือTAM และสามารถคว้ารางวัลชมเชยมาครอง

อย่างไรก็ตาม เวลานั้นตลาดแอนิเมชั่นในเมืองไทยยังซบเซา การ์ตูนติดลมจึงถูกเก็บเข้าลิ้นชักไว้เฉยๆ ไม่ได้ออกมาวาดลวดลายโชว์ศักยภาพ ขณะที่เจ้าของผลงานต้องหันไปยึดอาชีพรับจ้างออกแบบคาแรคเตอร์ต่างๆ จนเมื่อไลน์เปิดโอกาสให้นักออกแบบทั่วไปส่งสติ๊กเกอร์เข้าขายได้ กลายเป็นเวทีให้เจ้าควายน้อยกลับมาแจ้งเกิดอีกครั้ง
      
“ตอนที่ผมคิดออกแบบติดลม อยากจะสร้างการ์ตูนคาแรคเตอร์ที่สื่อถึงความเป็นไทย แต่ไม่ใช้ “ช้าง” หรือ “แมว” ซึ่งมีคนทำอยู่เยอะมากแล้ว เลยคิดถึง “ควาย” สัตว์ที่อยู่คู่คนไทยมาตลอด กำหนดเรื่องราวให้เป็นควายบ้านนอกเข้ากรุง นิสัยซื่อแต่จริงใจ และชอบเรียนรู้ตลอดเวลา” สัญญา เล่าแนวคิดการออกแบบ และเสริมต่อว่า

“เมื่อปีที่แล้ว (2557) หลังไลน์ประกาศให้ส่งสติ๊กเกอร์เข้าขายได้ ในวงการนักออกแบบแอนิเมชั่นไทยตื่นตัวกันมาก เพราะที่ผ่านมา พวกเราแทบไม่มีเวทีแสดงผลงานที่กว้างมากนัก อย่างมากแค่ทำเว็บไซต์ ดังนั้น เมื่อไลน์เปิดโอกาส นักออกแบบแทบทุกคนจึงส่งผลงานสติ๊กเกอร์เข้าขายไลน์ โดยเหตุที่ผมเลือกส่ง “ติดลม” เพราะดูในตลาดยังไม่มีคาแรคเตอร์แบบนี้เลย เห็นช่องว่างและสื่อถึงความเป็นไทยได้ด้วย” นักออกแบบมืออาชีพ กล่าว
      
สติ๊กเกอร์ “ติดลม” เปิดให้โหลดครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.57 ด้วยคาแรคเตอร์โดดเด่น และที่สำคัญเป็นสติ๊กเกอร์ไลน์ฝีมือไทยรุ่นแรกที่ออกขาย ทำให้ยอดดาวน์โหลดขึ้นอันดับหนึ่งทันที จนถึงปัจจุบันมีออกมาแล้ว 3 ชุด และจากการจัดอันดับในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา นับเป็นสติ๊กเกอร์ไลน์ขายดีที่สุดอันดับ 2 ของประเทศไทย สร้างรายได้ให้เจ้าของ ทะลุหลักล้านบาทไปแล้ว

นอกจากขายสติ๊กเกอร์ นักออกแบบหนุ่มได้ต่อยอดให้ “ติดลม” สร้างรายได้มากขึ้น ด้วยการทำเป็นชุดสติ๊กเกอร์เคลื่อนไหว จัดกิจกรรมต่างๆ ให้ใกล้ชิดแฟนคลับ ผ่านช่องทางสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก และอินสตราแกรม โดยมีทีมแอดมินดูแลโดยตรง อีกทั้ง ทำออกมาเป็นสินค้าของขวัญ และของที่ระลึกต่างๆ วางขายในห้างสรรพสินค้าด้วย
      
“ทุกวันนี้ นักออกแบบหน้าใหม่หลายคน มักถามผมว่า จะทำให้สติ๊กเกอร์ขายดีได้อย่างไร ซึ่งผมจะตอบกลับว่า ก่อนที่จะทำสติ๊กเกอร์ใดๆ ก็ตาม ควรวางจุดยืนคาแรคเตอร์ให้ชัดเจนเสียก่อน ว่าจะทำเพื่อขายใคร ระบุให้ชัดเจน เช่น ทำเพื่อนักศึกษา ผู้หญิง กลุ่มคนเล่นโยคะ ฯลฯ โดยกำหนดตลาดไว้ล่วงหน้า แล้วค่อยออกแบบการ์ตูนให้เหมาะกับลูกค้าเป้าหมายของเรา” สัญญา กล่าวและเสริมต่อว่า
      
“อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับ สิ่งสำคัญมากๆ ที่ทำให้ผมสามารถมีวันนี้ได้ เพราะทำขายในยุคแรก มีสติ๊กเกอร์แค่หลักพันชุด แต่ทุกวันนี้ เพิ่มเป็นหลักแสนชุด เมื่อตัวเลือกมากขึ้น โอกาสจะประสบความสำเร็จก็น้อยลง และทุกวันนี้ ไม่ใช่แค่นักวาดภาพเท่านั้น บริษัทใหญ่มืออาชีพก็เข้ามาแข่งด้วย รวมถึง ความนิยมของคนไทยก็เปลี่ยนแปลงเร็วมาก กรณีที่ผมเคยทำแล้วสำเร็จ มาใช้ในตอนนี้อาจจะไม่ได้ผลแล้วด้วยซ้ำ”

“สำหรับหน้าใหม่ ตอนนี้ ผมอยากให้วางคอนเส็ปต์ให้ชัดเจนเสียก่อน อย่าคิดทำตัวการ์ตูนตามกระแส หรือแฟชั่นเท่านั้น แต่ควรเน้นทำคาแรคเตอร์มุ่งไปที่ตลาดเฉพาะเจาะจง ที่ยังมีช่องว่างพอจะให้แทรกตัวเข้าไปได้ และที่สำคัญ แม้ว่าเราจะขายไม่ได้ แต่อย่างน้อย ผลงานของเราได้ถูกเก็บในห้องแกเลอรี่ส่วนตัว เวลาไปติดต่อนำเสนอผลงานใดๆก็ตาม สามารถหยิบมาโชว์ได้ ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือ” เขา กล่าว

www.zylostudio.com , FB: zylostudio

‘JUMBOOKA’ สาวน้อยรวยเสน่ห์ แปลงความคิดเป็นภาพสื่ออารมณ์
      
สติ๊กเกอร์ไลน์ขายดีที่สุดของประเทศไทย ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาคือ JUMBOOKA โดย “ชำนาญ จุฬาจตุรศิระรัตน์” มีคาแรกเตอร์เป็นเด็กผู้หญิงแสนน่ารัก ชอบเรียนรู้ แรงบันดาลใจจากที่เขาและภรรยาอยากมีลูกมาก เลยวาดการ์ตูนตัวนี้ มาเพื่อเป็นเสมือนตัวแทนลูกสาว

“ผมเคยเป็นทีมงานเบื้องหลังทำการ์ตูน “จ้ะ ทิง จ๋า” จนไลน์เปิดให้ขายสติ๊กเกอร์ได้ ผมก็เลยเลือกคาแรกเตอร์เด็กผู้หญิงที่น่ารัก ให้ความสำคัญด้านการออกแบบที่สามารถสื่อสารอารมณ์ได้ดี” ชำนาญ กล่าว

ปัจจัยที่ช่วยให้ตัวการ์ตูน JUMBOOKA เป็นที่รักจนต้องยอมโหลด เขาบอกว่า มาจากคาแร็ตเตอร์ที่โดดเด่น สดใส สนุกสนาน และมีความหลากหลาย ทั้งคน สัตว์ รวมแล้ว มีคาแรคเตอร์ประมาณ 10 ตัว แต่ละตัวจะมีความสัมผัสกับ JUMBOOKA ต่างๆกันไป เช่น เป็นเพื่อน เป็นสัตว์เลี้ยง ฯลฯ ช่วยให้การ์ตูนตัวนี้ ดุลมีชีวิตมากยิ่งขึ้น และยังเป็นสัญลักษณ์ความอบอุ่นแบบครอบครัว

ชำนาญ ระบุว่า ทุกวันนี้ ทำสติ๊กเกอร์ไลน์ขายเป็นอาชีพหลัก ส่วนวิธีทำตลาด ปัจจุบันหากจะออกสติ๊กเกอร์ชุดใหม่ จะใช้วิธีการแจกฟรี เพื่อแนะนำตัวให้ผู้ซื้อรู้ว่า JUMBOOKA ออกชุดใหม่แล้ว

“สิ่งสำคัญ นักออกแบบต้องแปลงความคิดออกมาเป็นภาพ และเป็นภาพที่คนวงกว้างชื่นชอบด้วย ซึ่งต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ส่วนคนที่กำลังอยากจะทำสติ๊กเกอร์ไลน์ขายบ้าง ผมอยากให้ศึกษาข้อกำหนดต่างๆ ให้ละเอียดรอบคอบ โดยเฉพาะเรื่องลิขสิทธิ์กับภาษี ส่วนการแข่งขัน แม้ตอนนี้จะมีคนทำมาก แต่ผมอยากให้ส่งไปเรื่อยๆ ชิ้นแรกอาจไม่สำเร็จ เราก็ส่งไปอีกสม่ำเสมอ อาจจะมีชิ้นหนึ่งที่เกิดแจ็กพอตได้รับความนิยม มันก็จะเปลี่ยนชีวิตคุณได้เลย” ชำนาญ กล่าว
      
ID Line: kapomy2014

สร้างจุดขายท้องถิ่นนิยม วางเป้าขายลิขสิทธิ์ทั่วโลก
      
สำหรับสตูดิโอ “นานามิ แอนิเมชั่น” ถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในการสร้างคาแรคเตอร์ใช้ “ท้องถิ่นนิยม” มาเป็นจุดขายจับลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ผ่านตัวการ์ตูนชุดภาษาอีสาน ภาษาเหนือ และภาษาใต้ ที่รู้จักกันดี เช่น ชุด “อีสาน เลิฟเวอร์” (Isan Lovers) เปิดตัวเมื่อเดือนมีนาคม 2558 นี่เอง ทำรายได้แล้วกว่า 3 แสนบาท

คทิน อุรารักษ์ นักออกแบบคาแรกเตอร์ เล่าเรื่องราวของการออกแบบคาแรกเตอร์บนสติกเกอร์ไลน์ นานามิ แอนิเมชั่น เริ่มจากไลน์เกาหลีเห็นผลงานวาดภาพของทีมนานามิฯ จึงชักชวนให้ทำสติกเกอร์บนไลน์ ชุด “น้องมะพร้าว” จนประสบความสำเร็จ และปัจจุบัน ขยับไปมีชีวิตอยู่บนไลน์เว็บการ์ตูน และครองอันดับ 1 อยู่ในเวลานี้
      
ทั้งนี้ ทีมงานนานามิฯ ทำสติ๊กเกอร์ไลน์ขายมาแล้วกว่า 30 ชุด แต่ละชุดจะเน้นการจับลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ส่วนที่มาของสติ๊กเกอร์ท้องถิ่นนั้น ทีมงานมีแนวคิดจะทำธุรกิจลิขสิทธิ์คาแรคเตอร์ที่ขายได้ทั่วโลก โดยเครื่องมือที่จะสื่อไปถึงแต่ละกลุ่มลูกค้าได้ดีที่สุด คือ “ภาษา” ที่ใช้

“ผมสังเกตคนรอบตัวที่มาจากภาคต่างๆ เวลาพูดกับเรา จะใช้ภาษากลาง แต่เวลาเขาคุยกันเองในครอบครัว จะพูดภาษาท้องถิ่น ทำให้เห็นถึงความผูกพันที่มากกว่า เลยเป็นไอเดียที่จะใช้ท้องถิ่นนิยมเป็นจุดขาย เราเริ่มจากคัดคำภาษาถิ่น ซึ่งเป็นคำที่ไม่แก่หรือวัยรุ่นจนเกินไป เป็นคำที่ใช้กันบ่อยๆ คนภาคอื่นพอจะเข้าใจได้บ้าง ส่วนใหญ่ความหมายไปในเชิงบวก ซึ่งคนทั่วไปจะใช้มากกว่า” คทิน กล่าว และเสริมต่อว่า
      

การเลือกใช้ “คำ” ประกอบในแต่ละภาพมีความสำคัญมาก ต้องสอดคล้องกัน ผู้ใช้สามารถนำไปใช้งานได้จริงๆ และต้องไม่ลืมว่า ภาษาจะกำหนดกลุ่มลูกค้าไปในตัว อย่างเช่น ใช้ “ภาษาไทย” คนซื้อหลักคือ “คนไทย” ใช้ “ภาษาจีน” คนซื้อหลักย่อมเป็น “คนจีน” แต่ถ้าใช้ “ภาษาอังกฤษ” คำง่ายๆ ผู้ซื้อคือ “คนทั่วโลก”เป็นต้น

นอกจากนั้น ควรเลือกช่วงเวลาในการออกสติ๊กเกอร์ให้เหมาะสม โดยศึกษาและเก็บข้อมูลเสียก่อน ไม่ควรออกในช่วงที่มีสติ๊กเกอร์ลักษณะคล้ายๆ กันอยู่แล้ว เพราะการแข่งขันสูง และระยะเวลาที่ขายได้ดีจะสั้นลง
      
ในตอนท้าย คทิน ระบุว่า สติ๊กเกอร์ไลน์ไม่จำเป็นต้องสวย คนวาดรูปไม่เก่งก็สามารถขายดีได้ ขอแค่มีความคิดสร้างสรรค์ มีเอกลักษณ์ ซึ่งผู้ออกแบบสามารถหาข้อมูลเพื่อจับพฤติกรรมลูกค้าเป้าหมายได้จากการเฝ้าสังเกตสติ๊กเกอร์ไลน์ที่มีขายอยู่แล้ว
      
www.nanamianimation.com

แนะหัวใจขายดี คือ ใช้ง่าย+สร้างสรรค์
      
ด้าน “นาโอโตโมะ วาตานาเบะ” ผู้จัดการฝ่ายวางแผนสติกเกอร์ ไลน์คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น แนะนำวิธีออกแบบสติ๊กเกอร์ให้ประสบความสำเร็จ ขายดีจนเป็นสติ๊กเกอร์ยอดนิยม มีปัจจัยหลัก ได้แก่ “Usability” กล่าวคือ เป็นสติ๊กเกอร์ใช้ง่าย โดยแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ หนึ่ง “Communication-Friendly” ใช้สื่อสารได้ง่ายๆ มีดีไซน์ที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย เช่น ไปเที่ยวกันไหม กินข้าวกันไหม ฯลฯ ซึ่งคำเหล่านี้ใช้ได้บ่อยๆ โดยการออกแบบเติมคำที่ใช้อยู่บ่อยๆ ควรอยู่ตำแหน่งหน้าสติ๊กเกอร์ เพราะสังเกตเห็นง่าย สอง “Extreme yet Simple Expressions” คือ ดีไซน์ที่ชัดเจน ง่ายๆ เห็นท่าทางที่ชัดเจน เช่น หัวเราะก็ชัดเจนว่าหัวเราะ

นอกจากนี้ ยังรวมถึงต้องมี “Creativity” หรือความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นตัวตัดสินของผู้ซื้อ ฉะนั้น หัวใจของสติ๊กเกอร์ขายดี ต้อง “ใช้ง่าย” และมีความคิด “สร้างสรรค์” ประกอบกันอย่างลงตัว

“สติ๊กเกอร์ที่เป็นที่นิยมของผู้ใช้ LINE คือ สติ๊กเกอร์ที่ใช้สื่อสารได้ง่ายในชีวิตประจำวันและสติ๊กเกอร์ซึ่งแสดงสีหน้าอารมณ์ได้ชัดเจน หลังจากที่เปิดตัว LINE ครีเอเทอร์มาร์เก็ต ผู้ใช้ LINE ก็มีโอกาสได้ใช้สติ๊กเกอร์ที่หลากหลายจากนักออกแบบทั่วโลก ส่วนเทรนด์สติ๊กเกอร์ที่กำลังมาแรงในตลาด ไทยก็คงหนีไม่พ้นสติ๊กเกอร์ภาษาท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นภาษาอีสาน ภาษาเหนือ หรือภาษาใต้ ซึ่งสติ๊กเกอร์เหล่านี้ มีคาแรคเตอร์ชัดเจนและยังแฝงไว้ด้วยอารมณ์ขันที่แสดงเอกลักษณ์ของนักออกแบบไทยได้เป็นอย่างดีอีกด้วย” นาโอโตโมะ กล่าว

ที่มา : http://manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9580000073423