หากินกับเจ้าตูบเจ้าเหมียว ธุรกิจไม่มีวันเจ๊งในจีน

ฟรานเซส เฉิน พนักงานของธนาคารเซี่ยงไฮ้เป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงหนึ่งในหลายล้านคน ที่หนุนให้ธุรกิจดูแลสัตว์เลี้ยงในจีนกลายเป็นธุรกิจโตเร็วที่สุดอย่างหนึ่งในโลก 
       
เธอพาคุกกี้ ไปอาบน้ำที่ร้านรับจ้างสัปดาห์ละครั้ง ให้กินอาหารชั้นดี ซึ่งนำเข้าจากต่างประเทศ ค่าเลี้ยงดูเจ้าตูบ สายพันธุ์พุดเดิ้ล เพศผู้ตัวนี้ตกราวเดือนละ 2,000 หยวน หรือประมาณ 10,000 บาท
       
“ฉันอยากให้สิ่งที่ดีที่สุดกับเขา” สาวโสด วัย 26 ปี ซึ่งอาศัยอยู่กับพ่อแม่เปิดเผย
       
“เขาเป็นลูกของเราค่ะ ไม่เหมือนกันแค่ตรงที่เขาพูดภาษามนุษยไม่ได้เท่านั้นเอง” 

หญิงสาวสะพายกระเป๋า พร้อมเจ้าตูบน้อย กำลังเดินอยู่ในย่านช้อปปิ้งกรุงปักกิ่ง – รอยเตอร์

 

สมัยหนึ่งเหมา เจ๋อตง ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนเคยห้ามคนจีนมีสัตว์เลี้ยง เพราะมันเป็นเครื่องพักผ่อนหย่อนใจของพวกชนชั้นทุนนิยม ทว่ามายุคสมัยนี้การครอบครองสัตว์เลี้ยงสักตัวหนึ่งกลับเป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จทางการเงินบนแดนมังกรไปเสียแล้ว
       
ยูโรมอนิเตอร์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาและวิจัยด้านการตลาดโลก คาดการณ์ว่า ภาคธุรกิจการดูแลสัตว์เลี้ยงในจีนจะโตอีกกว่าครึ่งหนึ่งเป็น 15,800 ล้านหยวน หรือราว 79,000 ล้านหยวนภายในปี 2562 หรือในอีก 4 ปีข้างหน้า แซงหน้าตลาดใหญ่ที่สุดในโลกอย่างสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่า ในปี 2558 จะโตกว่าร้อยละ 4 เล็กน้อย เป็น 60,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

หญิงคนหนึ่งกำลังถ่ายรูปกับน้องหมาของเธอหน้าห้างสรรพสินค้าในกรุงปักกิ่ง – รอยเตอร์

 

ลู่ทางที่สดใสทำให้บริษัทข้ามชาติ เช่น มาร์ส เนสต์เล่ พร็อกเตอร์แอนด์แกมเบิล และคอลเกต-ปาล์มโอลีฟ พากันตาโต
       
จากข้อมูลของยูโรมอนิเตอร์นั้น สัตว์เลี้ยงสุดโปรดไม่มีใครเกินบรรดาคุณตูบ เฉพาะแค่ยอดขายอาหารสุนัขอย่างเดียวก็คาดว่า จะพุ่งพรวดเกือบ 3 เท่า เป็นมูลค่ากว่า 760 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี2562 
       
รายได้และฐานะการเงินที่มั่งคั่งกว่าเดิม ทำให้มีผู้คนบนแดนมังกรมากขึ้น ที่เอาเงินมาปรนเปรอสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามเมืองใหญ่ ๆ นอกจากนั้น ความรู้สึกเหงาว้าเหว่ และชีวิตเคร่งเครียดของผู้คนในเมืองก็มีส่วน โดยพบว่า ในปีที่แล้วราว 30 ล้านครัวเรือน หรือเกือบร้อยละ 7 ของครัวเรือนทั่วประเทศมีน้องหมาเลี้ยงไว้บ้านละ 1 ตัว
       
นายแมตเทียส เบอร์นินเจอร์ หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ในภูมิภาคทั่วโลกของมาร์ส ระบุว่า ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในจีนยังมีโอกาสขยายตัวอีกมาก และขณะนี้ยังขยายตัวเหนือกว่าการคาดหมาย
       
นอกจากอาหารสัตว์เลี้ยงมียี่ห้อแล้ว ชาวจีนยอมจ่ายเงิน เพื่อซื้อสุนัขราคาแพงลิ่ว ที่มีใบรับรองพันธุ์ประวัติ เช่น สายพันธุ์ทิเบตันมาสทิฟฟ์ และยินดีควักประเป๋าอย่างไม่อิดออด เพื่อซื้อข้าวของเครื่องใช้ดี ๆ หรูหรามาบำรุงบำเรอสัตว์เลี้ยง ราวกับลูกในไส้ ร้านค้าปลีกสินค้าฟุ่มเฟือยพากันยิ้มแป้น

งานนิทรรศการแมวเหมียวในเมืองอู่ฮั่น ฮั่น มณฑลหูเป่ย มีผู้เข้าชมจำนวนมาก – เอเอฟพี

 

โครม โบนส์ บริษัทสัญชาติอเมริกัน มาเปิดสาขาแห่งแรกในนครเซี่ยงไฮ้เมื่อปีที่แล้ว ยอดขายพุ่งถึงร้อยละ 40 ต่อเดือน จากการขายสินค้า เช่น ปลอกคอฝังคริสตัลสวารอฟสกี้ ราคาตกเส้นละประมาณ 260 ดอลลาร์ หรือราว 8,580 บาท กระเป๋า หรือชามข้าว เตียงขนสัตว์เนื้อนุ่ม ซึ่งมีสิทธิบัตรรับรองสำหรับเจ้าเหมียว เจ้าตูบ
       
เท่านั้น ยังไม่พอ ยังมีร้านถ่ายรูปสัตว์เลี้ยง ชื่อว่า อี้เพ็ต ( Yipets) ในกรุงปักกิ่ง รับจ้างถ่ายรูปเจ้าของกับสัตว์เลี้ยง โดยเสนอแพ็กเกจการให้บริการในราคาต่าง ๆ ซึ่งบวกค่าชุดสำหรับสัตว์เลี้ยง และการจัดวางท่า ตั้งแต่ 388 หยวน – 8,888 หยวน หรือราว 1,940 บาท- 44,440 บาท 
       
ส่วนจิน จยา จวิ่น เคนเนล ( Jin Jia Jun Kennel) เป็นธุรกิจรับฝึกสอนสุนัข คิดราคาสอนเดือนละ 5,000 หยวน หรือราว 25,000 บาท
       
นายโคล จาง ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทบลูโบน ( Blue Bone) ตั้งอยู่ใกล้กับเซี่ยงไฮ้ส์บันด์ ให้บริการขับรถพาสุนัขเที่ยวด้วยรถเฟอร์รารี หรือมาเซราตี แล้วแต่เจ้าของสุนัขจะเลือก โดยราคาเริ่มต้นที่ 500 หยวนต่อ 1 กิโลเมตร หรือราว 2,500 บาท
       
มักมีลูกค้าจองเต็ม โดยเฉลี่ยสัปดาห์หนึ่งมีลูกค้ากว่า 100 ราย ทีมงานของเขาจึงต้องทำงานนอกเวลาในช่วงสุดสัปดาห์อยู่เสมอ ๆ 
       
“ลูกค้าส่วนใหญ่ของผมทะนุถนอมสัตว์เลี้ยงเอามาก ๆ และเต็มใจจ่ายไม่อั้นให้เจ้าตูบ” เขาเล่า นี่เองคือเคล็ดลับความสำเร็จ ที่นายจางค้นพบ และทำให้ธุรกิจของเขารุ่งอย่างแทบไม่น่าเชื่อ

ที่มา : http://manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9580000066361