ปริมาณ “อีเมลขยะ” หดครั้งแรกในรอบ 12 ปี

การสำรวจล่าสุด พบอีเมลขยะหรือสแปม (Spam) ในระบบอินเทอร์เน็ตโลกมีจำนวนลดลงเหลือต่ำกว่า 50% ของอีเมลทั่วโลก ถือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในรอบ 12 ปี 
       
ที่ผ่านมา ปริมาณอีเมลขยะนั้นคิดเป็นสัดส่วนเกินครึ่งของอีเมลทั่วโลกมาตลอด ล่าสุด ในรายงานไซแมนเทค อิเทลิเจนซ์ รีพอร์ต (Symantec Intelligence Report) พบว่า สัดส่วนอีเมลขยะนั้นคิดเป็น 49.7% ของอีเมลทั้งหมด โดยสัดส่วนนี้ถือเป็นสถิติใหม่นับตั้งแต่กันยายน 2003
       
นอกจากอีเมลขยะ จำนวนอีเมลไม่ประสงค์ดีอีก 2 กลุ่ม ยังมีสัดส่วนลดลงด้วยเช่นกัน ได้แก่ อีเมลหลอกลวงกลุ่มฟิชชิ่ง (Phishing) ที่ทำให้ผู้รับเข้าใจผิดว่าลิงก์ในอีเมลเป็นลิงก์สู่เว็บไซต์สถาบันการเงินจนหลงกรอกข้อมูลลับโดยไม่รู้ตัว และอีเมลกลุ่มแฝงโปรแกรมร้ายมัลแวร์ (malware) 

แม้อีเมลขยะจะมีสัดส่วนลดลง แต่ไซแมนเทคยังพบการขยายตัวของภัยร้ายออนไลน์บางกลุ่ม เช่น มัลแวร์สายพันธุ์ใหม่มากกว่า 57.6 ล้านโปรแกรมที่ถูกพบว่าเพิ่งสร้างขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตัวเลขนี้สูงกว่า 44.5 ล้านโปรแกรมที่ถูกสร้างเมื่อเดือนพฤษภาคม และ 29.2 ล้านโปรแกรมในเดือนเมษายน
       
ไซแมนเทค แปลการสวนทางนี้ว่า แทนที่จะเน้นส่งอีเมล นักเจาะระบบกำลังพยายามปั่นป่วนระบบด้วยวิดีโอการสร้างมัลแวร์โจมตีระบบมากขึ้น
       
นอกจากนี้ ภัยร้ายประเภทเรียกค่าไถ่ไฟล์ หรือ ransomware ยังคงเพิ่มขึ้นในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเช่นกัน สถิติล่าสุดที่พบคือ 477,000 โปรแกรม คิดเป็นตัวเลขที่ต้ำกว่าปริมาณที่พบในปลายปี 2014 โดยนี่คือเดือนที่ 2 ที่ ransomware มีจำนวนเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่มีจำนวนลดลงสูงสุดในรอบ 12 เดือนเมื่อเมษายนที่ผ่านมา
       
ภัยคุกคามที่มุ่งโจมตีระบบขององค์กรใดองค์กรหนึ่งก็ถูกบันทึกว่ามีจำนวนลดลงเช่นกัน (Targeted attack) โดยการโจมตีบริษัทภาคการผลิตลดลง 41% จาก 22% ในเดือนพฤษภาคม ถือเป็นข่าวดีแม้ว่าภาคการผลิตจะเป็นกลุ่มยอดนิยมที่พบความพยายามในการทำ targeted attack มากที่สุด รองลงมาเป็นกลุ่มสถาบันการเงิน และอสังหาริมทรัพย์
       
สำหรับโซเชียลมีเดีย รายงานระบุว่า ภัยคุกคามมากกว่า 83% อยู่ที่การส่งต่อวิดีโอ โดย 11% อยู่ที่ความพยายามล่อลวงให้ผู้ใช้เข้าร่วมกลุ่มกำมะลอเพื่อให้เหยื่อตายใจ และเปิดเผยข้อมูลลับส่วนบุคคล ขณะที่ 5% เป็นภัยจากการเผยแพร่ลิงก์เว็บไซต์ปลอม ซึ่งจะติดตั้งซอฟต์แวร์ร้ายที่จะโพสต์บนหน้าฟีดข่าวสารของผู้ใช้โดยไม่รู้ตัว 

ที่มา : http://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9580000081698