10 เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับการมาของ “เฟซบุ๊ก ประเทศไทย”

ได้ฤกษ์ดีเดย์ในการเปิดตัว “เฟซบุ๊ก ประเทศไทย” เสียที ในวันที่ 17 กันยายน 2558 มีการจัดงานอย่างเป็นกันเองที่ร้านอาหาร The Never Ending Summer ย่านเจริญนคร ภายในงานมีการตกแต่งสไตล์ไทยประยุกต์ มีความโมเดิร์นผสมกับกลิ่นอายความเป็นไทยอยู่

ถึงแม้จะมาช้าไปบ้าง แต่ทางเฟซบุ๊กเชื่อได้ว่าประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงอีกประเทศหนึ่งที่ไม่สามารถมองข้ามได้ งานนี้ “แดน เนียรี่” รองประธาน ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคแห่ง Facebook ได้เดินทางมาเปิดตัวสำนักงานประจำประเทศไทยอย่างเป็นทางการด้วยตนเอง ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีสถานที่ตั้งสำนักงานก็ตาม

แดน เนียรี่ให้เหตุผลที่เพิ่งมีการจัดตั้งสำนักงานที่ประเทศไทยว่า ต้องใช้เวลาในการดูแลแพลตฟอร์มค่อนข้างเยอะ อีกทั้งการดูแลลูกค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงการดูแลและพัฒนาสินค้าและบริการ เขามองว่ามาถึงเวลานี้ก็ได้เวลาพอเหมาะพอดีแล้ว

การเปิดตัวสำนักงานของเฟซบุ๊กในประเทศไทยในครั้งนี้ มีอะไรสำคัญบ้าง มาดูกัน!

1.     เป้าหมายหลักของการเปิดตัวสำนักงานในประเทศไทย เพื่อต้องการเชื่อมโยงผู้ใช้งานชาวไทยผ่านผลิตภัณฑ์ของเฟซบุ๊กที่ปัจจุบันมี 5 แพลตฟอร์มด้วยกัน คือ เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม, ว้อทแอป, กรุ้ป และเมสเซนเจอร์ รวมไปถึงการเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำ “โฆษณา” ให้กับแบรนด์ใหญ่ และ SME

2.     มีการพัฒนาคอนเทนต์ และบริการใหม่ๆ สำหรับภาคธุรกิจมากขึ้น เห็นได้จากการเปิดตัวโฆษณาใน “อินสตาแกรม” ตอนนี้มีพันธมิตรทั้งหมด 5 ราย ได้แก่ แอร์เอเชีย, ดีแทค, ลาซาดา, เทสโก้ โลตัส และซาโลร่า โดยที่โฆษณาบนอินสตาแกรมได้มีการเปิดใช้บริการใน 30 ประเทศก่อน จากนั้นค่อยเปิดใช้บริการทั่วโลกภายในสิ้นเดือนกันยายน

3.     การเปิดสำนักงานในไทยทำให้เฟซบุ๊กสามารถดูแลและสนับสนุนผู้ใช้งาน และธุรกิจได้ง่ายขึ้น จากเดิมที่มีทีมงานระดับภูมิภาคที่ประจำอยู่ประเทศสิงคโปร์

4.     ยังไม่มีการเปิดเผยถึงสถานที่ตั้งสำนักงาน รวมไปถึงคณะผู้บริหารประจำเฟซบุ๊กประเทศไทย

5.     เฟซบุ๊กให้ความสำคัญกับบริการโฆษณาบนอินสตาแกรมค่อนข้างมาก เพราะคนไทยมีพฤติกรรมกับการใช้อินสตาแกรมสูง รูปแบบโฆษณาเป็นทั้งแบบภาพถ่าย และวิดีโอความยาวไม่เกิน 30 วินาที

6.     คนไทยครองสถิติการใช้เวลาในโซเชียลเน็ตเวิร์กสูงที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้เวลาอยู่บนเฟซบุ๊กเฉลี่ย 2.35 ชั่วโมง/วัน

7.     ปัจจุบันมีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กในประเทศไทย 34 ล้านคน และ 94% ใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือ

8.     ในประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้อินสตาแกรมแอคทีฟ 7.1 ล้านคน

9.     คนไทยกว่า 78% ใช้เฟซบุ๊กในการติดต่อสื่อสารกับคนรู้จัก ขณะที่ 65% ใช้เฟซบุ๊กในการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับแบรนด์ต่างๆ

10.   มีจำนวนธุรกิจมากกว่า 1.16 ล้านกิจการ ในไทย ที่เป็นเจ้าของเพจ และแอคทีฟบนเฟซบุ๊ก โดยที่ 70% ของผู้ใช้งานชาวไทยเชื่อมต่อกับเพจธุรกิจ SME บนเฟซบุ๊กอย่างน้อย 1 เพจ