เมื่อ “ฮิป มาร์เก็ต” ครองเมืองทางเลือกใหม่ขาชอป

จับตา ฮิป มาร์เก็ต หรือ อินดี้ มาร์เก็ต โอเพน มาร์เก็ต จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ แต่นี่คือ กระแสใหม่ของ “ธุรกิจค้าปลีก” ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ดึงเอาพ่อค้าแม่ค้าจากออนไลน์ จาก ไอจี มาเป็นแม่เหล็กดึงดูดลูกค้า ใส่ความเป็นอาร์ตและบันเทิง มีโซเชียลมีเดียเป็นสื่อในการโปรโมต ดึงกำลังซื้อจากนักชอป นักชิม ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ที่แม้แต่ห้างสรรพสินค้าเองก็ต้องรับมือกับกระแสที่กำลังมาแรงนี้

ถึงแม้จะมีห้างสรรพสินค้าเกิดมากมายให้เลือกชอป เลือกชิม แล้วแชร์กันมากมาย แต่ยังมีค้าปลีกทางเลือกใหม่ “ตลาดนัด” สไตล์ใหม่  ใส่ความบันเทิงและอาร์ตคล้ายงานอีเวนต์ หลายคนเรียก ฮิป มาร์เก็ต ให้กับพ่อค้า แม่ค้าหน้าใหม่ กำลังเป็นอีกทางเลือกให้คนเมืองได้ชอปชิม แชร์ หลายๆ แห่งที่เป็นสถานที่ฮอตฮิตในการ “เช็กอิน” ของคนยุคนี้

ถ้าตลาดนัดยอดนิยมของคนกรุงเทพฯ ในเจนเนอเรชันแรกๆ คงหนีไม่พ้นกับ “ตลาดนัดสวนจตุจักร” ถึงแม้จะเปิดเพียงแค่วันเสาร์-อาทิตย์ แต่ก็เป็นแหล่งรวมร้านค้า สินค้า และคนมีสไตล์ไว้เพียบ ในอดีตหลายคนอาจจะมองว่าเป็นตลาดของ “เด็กแนว” ไปเลยก็ได้ เพราะขึ้นชื่อว่ามีสินค้าที่แตกต่างจากที่อื่น และมีสินค้าครอบคลุมโซนต้นไม้ และสัตว์เลี้ยงด้วย

แต่ด้วยข้อจำกัดในเรื่องของสภาพอากาศเมืองไทยที่เป็นเมืองร้อน และเรื่องวันเวลาที่เปิดแค่เสาร์-อาทิตย์ในช่วงกลางวัน ทำให้จตุจักรเริ่มถูกแทนที่ด้วยการเข้ามาของ “ตลาดนัดรถไฟ” ที่แต่เดิมตั้งอยู่ละแวกเดียวกับตลาดสวนจตุจักร จากฝีมือการปลุกปั้นของ “โรจน์-ไพโรจน์ ร้อยแก้ว” เจ้าของร้านขายของเก่า Rod’s Antique

ตลาดนัดรถไฟได้เข้ามาอุดข้อจำกัดต่างๆ ด้วยการเปิดเป็นตลาดในช่วงเย็นไปจนถึงประมาณเที่ยงคืน โดยที่ยังคงกลิ่นอายของความชิค ความเก๋สไตล์สวนจตุจักรไว้อยู่ แต่สินค้าจะหลากหลายมากขึ้น และมีความแมสมากขึ้น ตลาดมีความเป็นวินเทจอยู่ในตัว มีสินค้าของมือสอง และมีร้านจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์มือสองแบบคลาสสิก สิ่งต่างๆ เหล่านี้จึงกลายเป็นเสน่ห์ และดีเอ็นเอประจำตัวของตลาดรถไฟ

ประกอบกับในช่วงนั้นเป็นช่วงที่โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กกำลังบูมได้ที่ การแชร์รูปภาพ หรือการเช็กอินสถานที่นั้นมีอิทธิพลอย่างมากบนโลกออนไลน์ พอเริ่มเป็นกระแสจึงทำให้ตลาดนัดรถไฟเป็นที่นิยม ซึ่งภายหลังตลาดนัดรถไฟก็ได้ย้ายถิ่นฐานจากจตุจักรมาที่  ถ.ศรีนครินทร์ เพราะติดเรื่องสัญญาเช่าที่ดินกับทางการรถไฟ

หลังจากที่ได้ย้ายทำเลมาที่ ถ.ศรีนครินทร์ก็ไม่ได้ทำให้ความนิยมลดน้อยลงไปเลย ตรงกันข้ามยังช่วยเพิ่มดีกรีความฮอตจนสามารถขยายสาขาไปยัง ถ.รัชดาภิเษก โดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า ตลาดนักรถไฟรัชดา ตั้งอยู่บริเวณหลังห้างสรรพสินค้าเอสพลานาดรัชดา และในอนาคตจะทำการเปิดสาขาที่ ถ.เกษตร-นวมินทร์อีกด้วย

จากความสำเร็จของตลาดนัดรถไฟ ทำให้เราได้เห็นตลาดนัดในโมเดลทำนองนี้ผุดขึ้นอย่างรุนแรงทั้งตลาดนัด “เจเจ กรีน” ที่ตั้งอยู่บริเวณสวนจตุจักร “ตลาดนัดเลียบด่วน” บริเวณเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา “ตลาดหัวมุม” บริเวณถนนเกษตร-นวมินทร์ คอนเซ็ปต์ก็เป็นตลาดนัดเวลากลางคืนเช่นเดียวกัน มีร้านอาหารให้นั่งแฮงก์เอาต์

ที่ฮือฮามากที่สุดในช่วงที่ผ่านมาก็คือ “Artbox” เรียกว่าเป็นตลาดนัดเด็กแนวรุ่นใหม่ ที่รวมเอาความอาร์ต ความชิค โดยเล่นกับคอนเซ็ปต์ของ “ตู้คอนเทนเนอร์” มาตกแต่งให้เป็นร้านขายของ มีทั้งร้านค้าขายอาหาร สินค้าแฟชั่น และร้านอาหารฟูดทรัก โดยได้เลือกทำเลนอกห้างสรรพสินค้า พื้นที่ใกล้กับระบบรถไฟฟ้า จากนั้นอาศัยกระแสปากต่อปาก รวมถึงการแชร์ลงบนสื่อโซเชียลมีเดีย ทำให้ Artbox จุดติดดังเป็นพลุแตกขึ้นมา

ถัดจากนั้นก็มี “ตลาดนัด” แนวฮิป มาร์เก็ตเกิดขึ้นมากมาย ตอบโจทย์ความต้องการหลากหลาย และเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ใช่ว่าจะเป็นตลาดนัดสินค้าแฟชั่น และอาหารอย่างเดียว มีตลาดนัดที่ขายสินค้าผักสด อย่าง Root Garden สวนกลางเมือง จัดตลาดนัดขายสินค้าผักสด  ผักปลอดสารพิษชื่อดังทั้งหลาย มาเลือกชอปและชิม มีดนตรีขับกล่อมในทำเลกลางเมืองอย่าง “ทองหล่อ” หรือ โรงเรียนสมถวิล สุขุมวิท 62 ก็เพิ่งจัดงาน Weeked Market โดยนำร้านดังจากไอจีมาเปิดขาย เป็นอีกหนึ่งในตัวอย่างของตลาดนัดแนวนี้ที่เกิดขึ้นมากมาย

การแจ้งเกิดของตลาดนัดแนวนี้ เป็นทางเลือกที่ดึงดูดลูกค้าขาชอปที่เป็นกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน ที่มีความชอบหลากหลาย โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ที่ถือเป็นไพรม์ไทม์ของห้างสรรพสินค้า ต้องปรับตัวจัด “อีเวนต์” โดยเอาคอนเซ็ปต์ตลาดนัดมาเปิดในห้าง ในรูปแบบของตลาดนัดติดแอร์

การจัดอีเวนต์จะมีชื่อแบรนด์ และคอนเซ็ปต์ที่แตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่จะเป็นผู้จัดที่อยู่ในวงการสื่ออยู่แล้วลงมาจับจองทำอีเวนต์เพื่อต่อยอดธุรกิจ เช่น Cheeze Market และ Cheeze Car Booth Sale ของนิตยสารชีส รวมไปถึง Zaap on Sale จากเจ้าพ่อวงการปาร์ตี้อย่าง Zaap ด้วย หรือล่าสุด ดาวคะนอง เฟสติวัล ที่นำเอาดารามาเปิดบูธ และร้านดังจากไอจี มาขายในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว  

ความมาแรงของตลาดเหล่านี้เกิดได้จากหลายปัจจัยด้วยกัน ที่สำคัญคือการเติบโตของร้านค้าในอินสตาแกรม หรือในโลกออนไลน์ ที่ทำให้ผู้ที่มองเห็นโอกาสจัดอีเวนต์ขึ้นเพื่อรวบรวมร้านค้าต่างๆ โดยเฉพาะร้านค้าออนไลน์ ในไอจี ที่แจ้งเกิดเพิ่มขึ้นตลอดเวลา กระแสคนดังมาขายของ ตลอดจนไลฟ์สไตล์ของคนได้เปลี่ยนไป มีการใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น ชอบแฮงก์เอาต์ ตลาดนัด หรืองานอีเวนต์ที่รวบรวมทุกอย่างไว้ด้วยกัน จะเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของการเลือกมาใช้ชีวิตในเวลาว่าง ซึ่งตลาดนัดที่ว่าสามารถตอบโจทย์สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการได้ทั้ง “ชิม-ชอป-แชร์” 

ค้าปลีกสะเทือน! ปรับตัวเพิ่มอีเวนต์ เปลี่ยนโฉมดึงดูดผู้บริโภค

ขึ้นชื่อว่าตลาดค้าปลีกย่อมมีการแข่งขันดุเดือดตลอดเวลา การเปิดตัวห้างสรรพสินค้าในปัจจุบันถ้าไม่มีแม็กเน็ตดึงดูดได้มากพอ ก็ไม่สามารถดึงความสนใจจากผู้บริโภคได้เลย ยิ่งการเติบโตของตลาดนัด หรืองานอีเวนต์ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ แม้จะไม่ใช่คู่แข่งกันโดยตรงก็ตาม แต่ก็มีส่วนสำคัญในการดึงทราฟฟิกผู้คนให้ออกนอกห้างได้เช่นกัน

ตัวห้างสรรพสินค้าเอง หรือผู้ประกอบการค้าปลีกอื่นๆ จำเป็นต้องปรับตัว ปรับกลยุทธ์อยู่พอสมควร เพื่อรับกับกระแสนี้ เพราะดึงกำลังซื้อไปได้ไม่น้อยทีเดียว หลายแห่งได้ทำการบรรจุงานอีเวนต์ที่เป็นตลาดนัดกลายเป็นกลยุทธ์หลักที่ต้องทำถี่มากขึ้น

ณพวงศ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา กรรมการบริหาร บริษัท อรรถกระวี จำกัด ผู้บริหารโครงการ A Space และสวนเพลินมาร์เก็ต ได้กล่าวว่า “เดี๋ยวนี้คนคาดหวังกับการที่ห้างค้าปลีกจะมีอีเวนต์มากขึ้น เพราะเดี๋ยวนี้อะไรเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ห้างเองต้องหาอะไรใหม่ๆ สินค้าต้องใหม่ ต้องสร้างสีสัน งานอีเวนต์มันเลยตอบโจทย์ตรงนั้นได้ดี เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคน โครงการเควิลเลจที่เป็นอีกหนึ่งโครงการของบริษัทในเครือก็มีอีเวนต์ขายของค่อนข้างถี่ เพราะเรามองว่ามันสำคัญมาก และมีส่วนช่วยได้เยอะในการดึงดูดคน ในส่วนของโครงการใหม่ก็มีการออกแบบโซนสำหรับอีเวนต์โดยเฉพาะ ให้มีบรรยากาศที่ดี”

สำหรับกรณีที่ตลาดฮิป มาร์เก็ต หรืออีเวนต์จะมาชิงทราฟฟิกผู้เข้าใช้บริการนั้น ณพวงศ์มองว่า เป็นคนละ Destination กันมากกว่า ตลาดฮิป มาร์เก็ตอย่าง อาร์ตบ๊อกซ์ ตลาดนัดรถไฟจะเป็นตลาดช่วงเย็น แต่อีเวนต์ที่จัดในห้างมีการจัดงานทั้งวัน สามารถเดินได้ทั้งวัน กลุ่มเป้าหมายอาจจะเป็นคนละกลุ่มกันด้วย ฮิป มาร์เก็ตจะค่อนข้างเป็นกลุ่มวัยรุ่นหน่อย แต่สำหรับของเควิลเลจจะเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างมีกำลังซื้อสูง หรือจะเป็นกลุ่ม First Jobber

ทางด้านห้างสรรพสินค้า “โรบินสัน” ก็มีการปรับโฉมใหม่ เพื่อเสริมความเป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น ประเดิมรีโนเวตสาขาแรกที่สาขารังสิต หรือที่ตั้งอยู่ในฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิต ด้วยงบลงทุน 200 ล้านบาท ตกแต่งด้วยธีมมอลล์ จำลองแต่ละชั้นด้วยเมืองสำคัญต่างๆ เช่น ปารีส ลอนดอน นิวยอร์ก และญี่ปุ่น

อลัน ทอมสัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน จำกัด กล่าวว่า การปรับโฉมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี ทำให้ต้องคิดอะไรที่แตกต่างออกมาเพื่อสร้างสีสันในตลาด เราต้องการเพิ่มความเป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น ต้องการทำสถานที่ที่ไม่ใช่แค่ห้างซื้อของอย่างเดียว ในเรื่องประสบการณ์การชอปปิ้งก็เป็นสิ่งสำคัญ และเราต้องการโฟกัสกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น เพื่อให้วัยรุ่นเติบโตไปกับแบรนด์ อยากมี Relationship กับพวกเขา 

อลัน บอกว่า การเติบโตของตลาดนัด หรืองานอีเวนต์มีผลกระทบเหมือนกัน อาจจะไม่ใช่โดยตรงมากนัก แต่ก็เป็นสิ่งที่ย้ำเตือนเราว่าต้องปรับตัวอยู่ตลอด ต้องตามเทรนด์ลูกค้าให้ทัน อะไรอิน อะไรเอาต์ ถ้าเราตอบโจทย์เขาได้ครบตามที่ต้องการ เขาก็ไม่ไปไหน

จิตตินันท์ หวั่งหลี  รองกรรมการผู้จัดการสายพัฒนาธุรกิจและการตลาด บริษัท รังสิตพลาซ่า จำกัด เจ้าของศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค ให้ความเห็นถึงความนิยมของของฮิป มาร์เก็ต ว่า เป็นกระแสที่มาเป็นช่วงเวลา หรือ “ซีซัน” เท่านั้น ไม่ได้เปิดระยะยาว โดยกระแสนี้มาได้หลายเดือนแล้ว ในแง่ของฟิวเจอร์พาร์คเองก็มีเปิดให้มีตลาดแนวนี้บ้าง แต่ไม่เยอะและไม่จัดถี่ เพราะต้องดูแลผู้ประกอบการในศูนย์การค้าไม่ให้ได้รับผลกระทบ

ในมุมมองของ กวีพันธ์ เอี่ยมสกุลรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เค.อี.รีเทล จำกัด เจ้าของคอมมิวนิตี้มอลล์ เดอะ คริสตัล  มองว่า ตลาดที่เป็นโอเพน มาร์เก็ต แนวตลาดรถไฟ เปิดเยอะมาก โดยเฉพาะแถวเลียบทางด่วน แต่ไม่ได้มีผลกระทบกับเดอะคริสตัล เนื่องจากคนละกลุ่มเป้าหมาย สาเหตุที่เปิดกันมาก เพราะค่านิยมของคนไทยรวมถึงคนเอเชียเองที่ชอบทำธุรกิจส่วนตัว ประกอบกับการเปิดตลาดนัดแนวนี้ก็ทำได้ง่าย ไปเช่าพื้นที่ว่าง และมีโซเชียลมีเดียเป็นสื่อในการโปรโมต แต่ต้องระวังเมื่อมีคนทำกันมากๆ เข้าจะเกิดภาวะ “โอเวอร์ซัปพลาย” เปิดแล้วมีแต่เจ้าของร้านเดินกันเอง เทิร์นโอเวอร์สูง

นี่คือ ปรากฏการณ์และมุมมองที่สะท้อนของตลาดนัดแนวฮิป มาร์เก็ต ที่มาพร้อมกับค่านิยม การมีไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายและซับซ้อน การมีโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือสื่อสารสำคัญ จะทำให้ค้าปลีกแนวทางนี้เป็นอีกทางเลือก หรือแค่กระแสชั่วคราว ไม่นานก็รู้