งานนี้ต้องปัง..3 ศูนย์การค้าดัง รวมพลัง บูม“ย่านสยาม”

รวมกันเราอยู่ หรือรวมกันเราโต  น่าจะเป็นคำที่เหมาะกับสถานการณ์ของศูนย์การค้าที่ต้องหันมา “รวมพลัง” แทนที่จะต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างแข่งขันเหมือนที่ผ่านมา

เพราะเวลานี้การแข่งขันของศูนย์การค้า และห้างสรรพสินค้านับวันก็ยิ่งดุเดือด ยิ่งเป็นไพร์มแอเรีย ใจกลางเมืองด้วยแล้วต้องแข่งขันกันชนิดไม่มีใครยอมใคร  ทุกหัวมุมถนน ล้วนแต่มีศูนย์การค้าจับจองพื้นที่ ไล่เลียงกันมาตั้งแต่หัวมุมปทุมวัน ของกลุ่มสยาม  หัวมุมราชประสงค์ที่มีกลุ่มเซ็นทรัลเป็นหัวหอก ใกล้ๆกันก็มีกลุ่มเกสรพลาซ่า หัวมุมเพลินจิต มีเซ็นทรัลเอ็มบาสซี่คุมเชิง 

จนมาถึงบริเวณสุขุมวิท 33 เป็นต้นไป เวลานี้ก็มีกลุ่มเดอะมอลล์ยึดหัวหาด ภายใต้โปรเจกต์ ดิ เอ็มดิสทริก ผนึกกำลังทั้งศูนย์การค้าเอ็มโพเรียม ห้างเอ็มควอเทียร์  อาคารสำนักงาน โรงแรม โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เป็นย่านการค้าในแถบสุขุมวิท ดึงนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติให้มาเยือน

ศูนย์การค้าแยกปทุมวันเอง  “ย่านสยาม จึงต้องลุกขึ้นมาผนึกกำลังจับมือกันเป็น พันธมิตรพลังสยาม นำโดย บริษัทเอ็มบีเค จำกัด บริษัท สยามพิวรรธน์ และกลุ่มธุรกิจสยามสแควร์ เป็น 3 กลุ่มหลักในการจับมือครั้งนี้ เพื่อช่วยกัน “บูม” ย่านสยาม ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของทั้งคนไทยต่างประเทศ  เรียกว่า ถ้าจะให้เปรียบก็คงเทียบได้กับ “ย่านกินซ่า”ของญีปุ่น หรือ อ๊อกซฟอร์ดสตรีท ในลอนดอน กันเลยทีเดียว

ถ้าดูจากคนเดินทางมาที่ “ย่านสยาม” ตกเฉลี่ย 550,000 คนต่อวัน ยังไม่รวมคนที่เดินทางมาต่อรถไฟฟ้าอีก 400,000 คนต่อวัน  เป็นตัวเลขที่ไม่ธรรมดา ที่ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายใหญ่ต้องรักษาเอาไว้ และมองหาโอกาสใหม่ๆ ร่วมกัน  โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เป็นเป้าหมายสำคัญ ที่ต้องคว้าไว้ให้อยู่หมัด

ที่สำคัญ ทั้ง 3 กลุ่มเองก็แผนลงทุนในอีก 3 ปีข้างหน้ากันครั้งใหญ่  เริ่มจากกลุ่มเอ็มบีเค เตรียมลงทุนสร้างสกายวอล์ก เชื่อมจากห้างฯมาบุญครอง ไปยังจุฬาซอย 12  ทะลุต่อเข้า อาคารสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์  โดยใช้เงิน 2,000 ล้านบาท  และยังอยู่ระหว่างรีโนเวทห้างมาบุญครอง ใช้เงิน 1,000 ล้านบาท  รวมแล้วต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท

ส่วนสยามพิวรรธน์ อยู่ระหว่างปรับปรุงศูนย์การค้าดิสคัฟเวอรี่ ที่ชฏาทิพย์ จูตระกูล แม่ทัพหญิงแห่งสยามพิวรรธน์ บอกว่า จะมาพร้อมโฉมใหม่ และคอนเซปท์ใหม่ที่ฉีกทุกกฎของรีเทล เป็น “ไฮบริด รีเทล” แห่งแรก งานนี้กต้องใช้เงิน 4,000 ล้านบาท  รวมทั้งรีโนเวทชั้น G ของสยามพารากอน ใช้เงิน 300 ล้านบาท

สยามสแควร์ ต้องปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค มีโครงการลงทุนขนาดเล็ก และใหญ่ เช่น สร้างโรงแรมตรงอาคารสยามกิตติ์  รวมแล้วต้องใช้เงิน ไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท

รวมเบ็ดเสร็จทั้ง 3 ราย ใช้เงินลงทุนอีกไม่น้อยกว่า 11,000 ล้านบาทในอีก 3 ปีข้างหน้า

ดังนั้นแทนที่จะต่างคนต่างจัดอีเว้นท์ ต่างจัดแคมเปญ ก็มาลงขันร่วมกันจัด สร้างให้เกิดพลังเพราะ เมื่อกำลังเงิน กำลังคนมากขึ้น โอกาสที่จะพูดแล้วเสียงดัง หรือทำกิจกรรมแล้ว “เปรี้ยง” กว่าเดิมย่อมมีมากขึ้น

ไม่ใช่แค่ 3 รายหลักนี้เท่านั้น แต่การร่วมมือกันครั้งนี้ ยังได้รวมไปถึงผู้ประกอบการในเวณแยกเฉลิมเผ่า ไปจนถึงแยกบรรทัดทอง และกินอาณาเขตไปจนถึงสะพานหัวช้าง ซึ่งมีทั้งโรงแรม สถาบันการศึกษา หอมศิลปวัฒนธรรมฯ  บันเทิง แฟชั่น  เพื่อร่วมกันบูม “ย่านสยาม” ที่มี “ครบเครื่อง” อยู่แล้ว ให้กลายเป็นหนึ่งในสถานที่นักท่องเที่ยวต้องมาเมืองมาเมืองไทย

ผลงานชิ้นแรกที่เกิดจากการร่วมมือครั้งนี้ ที่จะได้เห็นเร็วๆนี้ การเปิดเว็บไซท์ เพื่อเป็นช่องทางออนไลน์ในโปรโมท “ย่านสยาม” ให้กับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ตามมาด้วยงาน “ปีใหม่” ของย่านสยาม ที่ทั้ง 3 ราย ยืนยันว่า ต้อง “ปัง” แน่ๆ