4G ไฟแรงเฟร่อ ! พลิกโฉม โฆษณา-ตลาดออนไลน์ วิดีโอบูม

นักการตลาด เอเยนซีโฆษณา และเจ้าของแบรนด์ ขานรับ 4G เชื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคยุค Now  คาด “วิดีโอ” บูมแน่ ทั้งผลิตและเสพ กระจาย

หลังจากได้บทสรุปกันไปแล้วสำหรับการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz บริการ 4G ที่มี 2 โอเปอเรเตอร์มือถือ เอไอเอส และทรู คว้าใบอนุญาตไปครอง ด้วยเม็ดเงินรวม 80,778 ล้านบาท ที่นอกจากจะสร้างความฮือฮาด้วยการใช้ระยะเวลาประมูล 33 ชั่วโมงกันไปแล้ว คาดว่าใบที่ 2 คลื่น 900 MHz ก็เตรียมเปิดประมูลในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ ที่คาดกันว่าการประมูลคงดุเดือดไม่แพ้ใบแรกแน่

สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังบริการ 4G ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน จากกาประเมินของศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หลังการประมูลคลื่นความถี่ 4G คาดว่าผู้ให้บริการที่ได้รับใบอนุญาต น่าจะเร่งขยายโครงข่ายและทยอยเริ่มเปิดให้บริการ 4G ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2559

ในแง่ของผู้บริโภค ช่วงแรกยังไม่เปลี่ยนมาใช้บริการ 4G มากนัก เพราะส่วนใหญ่ยังมีสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตรองรับบริการ 3G อยู่ ยิ่งในต่างจังหวัดด้วยแล้วเพิ่งเปลี่ยนระบบการใช้งานจาก 2G มาเป็น 3G ได้ไม่นาน จึงยังไม่เปลี่ยนผ่านสู่การใช้บริการ 4G ในระยะแรก

ช่วงแรกการทำตลาดของโอเปอเรเตอร์มือถือ จะเน้นการออกโปรโมชันแบบเฉพาะเจาะจงไปยังผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ และมีความต้องการใช้บริการข้อมูลในระดับสูง คือ กลุ่มที่ชื่นชอบและติดตามเทคโนโลยี ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้จะกระจุกตัวตามกรุงเทพฯ ปริมณฑล และตามหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด

ในระยะถัดไป เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น จึงขยายและทำตลาดไปยังลูกค้าทั่วไปมากขึ้น และด้วยการที่ กสทช. กำหนดให้อัตราค่าบริการ 4G ต้องทำต่ำกว่าบริการ 3G ก็เชื่อว่าจะกระตุ้นให้ผู้บริโภคทั่วไปตัดสินใจใช้บริการ 4G ได้ง่ายขึ้น

คาดว่าในปี 2559 จะมีผู้เข้าใช้บริการโมบายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตผ่านโครงข่าย 3Gและ4Gสูงถึง 38.4 – 39.7 ล้านคน ขยายเพิ่มขึ้น 11.0 – 14.7 % จากปี 2558 คิดเป็นอัตราการเข้าถึงโมบายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตราวร้อยละ 60.4 – 62.6 ของประชากรทั้งหมด

ขณะเดียวกันยังก่อให้เกิดอานิสงส์โดยตรงต่อธุรกิจหลากหลาย ธุรกิจวางโครงข่าย ธุรกิจบริการข้อมูล ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายสมาร์ทโฟน รวมทั้งการผลิตซอฟต์แวร์ ตลาดE-Commerceการให้บริการศึกษาออนไลน์ และการให้บริการบันเทิงออนไลน์ เป็นต้น

สำหรับในฟากของนักการตลาด เอเยนซีโฆษณา รวมทั้งเจ้าของแบรนด์ ห้างสรรพสินค้า ต่างก็มองโอกาสจากการมาของ 4G ไว้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะจาก “สปีด” ความเร็วในการส่งข้อมูล จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดรูปแบบการตลาดใหม่ๆ       

ตอบโจทย์  Now  Consumer

ดั่งใจถวิล อนันตชัย นายกสมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย มองว่า การมาของบริการ 4G จะตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคยุค Now Consumer  ซึ่งไม่ต้องการรออะไรทั้งสิ้น แต่ต้องการข้อมูลและบริการเดี๋ยวนี้ โดยในยุคของ 3G ก็ยังไม่ตอบสนองได้เท่าที่ควร แต่เมื่อก้าวเข้าสู่ยุค 4G เชื่อว่าเห็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องความเร็วได้ชัดเจน และจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการนำเสนอการตลาดรูปแบบใหม่ๆ ที่จะตอบสนองความต้องการผู้บริโภคยุค Now

“ที่จริงผู้บริโภคเขาไม่รู้หรอกว่าจะเป็น 3G หรือ 4G เขารู้แต่เพียงว่า ภายใน 1วินาทีนี้ สินค้าและบริการสามารถตอบโจทย์ความต้องการเขาได้หรือไม่ ดังนั้นจึงเป็นทั้งโอกาส และความท้าทายของนักการตลาด จะต้องตอบสนองความต้องการเหล่านี้ ถ้าใครไม่เปลี่ยนแปลง คงแข่งขันลำบาก เพราะยุคนี้ต้องนำเสนอสินค้าและบริการที่เกินความคาดหมาย และถ้าไม่รีบทำก่อนคู่แข่ง ผู้บริโภคก็พร้อมจะเปลี่ยนใจได้ทันที”

หนุนให้เกิดแพลตฟอร์มใหม่ๆ

อนุวัตร เฉลิมไชย นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ได้ให้ความเห็นว่า การที่มี 4G เข้ามาจะมาช่วยสนับสนุนในเรื่องเทคโนโลยี ทั้งในเรื่องแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ใช้เทคโนโลยีทำให้ไปได้รวดเร็วยิ่งขึ้น คนไทยยังเสพติดโลกออนไลน์ มีการบริโภคสื่อเยอะแยะ อย่างยูทิวบ์ เฟซบุ๊ก อัตราการใช้ของคนไทยก็เป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาค ถ้ามี 4G มาก็ยิ่งทำให้การใช้งานรวดเร็วขึ้น

เขามองว่า 4G จะไม่ใช่เป็นตัวผลักดันธุรกิจโทรคมนาคม หรือสมาร์ทโฟนอย่างเดียว แต่จะเป็นอีกเครื่องมือสำคัญในการผลักดันทุกอุตสาหกรรม ก่อนหน้านี้ 3G ก็เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการทำการสื่อสารการตลาดเข้าไปหาผู้บริโภค เป็นในลักษณะของออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย การมาของ 4G ก็เช่นเดียวกัน แต่คีย์ที่สำคัญคือเรื่องของความเร็วเป็นหลัก และช่วยในเรื่องของการทำสื่อ แต่ก่อนอาจจะเป็นสื่อที่ใช้ภาพนิ่ง และภาพไม่ใหญ่ แต่ตอนนี้อาจจะใช้แบบเคลื่อนไหว ทำเป็นโซเชียล หรือเรียลิตีได้หมดเลย เพราะแบรนด์วิธของ 4G มากกว่า 10 เท่าของ 3G

 แต่ตอนนี้การสื่อสารการตลาดต้องเน้นผสมผสานเป็นไฮบริด ต้องมีทั้งโลกดิจิตอล และไม่ใช่โลกดิจิตอล เพราะไม่มีทางที่ลูกค้าจะเทไปทางใดทางหนึ่ง

ถึงยุควิดีโอบูม

สุรศักดิ์ เหลืองอุษากุล กรรมการ บริษัท แบรนด์เบเกอร์ จำกัด ผู้ก่อตั้ง “แบรนด์เบเกอร์” ดิจิทัลเอเจนซี่ มองว่า การมาของ 4G จะสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาการรับและส่งคอนเทนต์ในรูปของ “วิดีโอ” เพิ่มมากขึ้น เช่น การเกิดของวิดีโอ 360องศา นอกจากจะเพิ่มมิติของการเสพสื่อวิดีโอให้น่าสนใจยิ่งขึ้นแล้ว ยังเอื้อให้เกิดการสร้างคอนเทนต์ที่หลากหลาย โดยผู้บริโภคทั่วไปเป็นผู้ผลิตเนื้อหาในลักษณะที่เป็น “เวอร์ชวล เรียลิตี” เพิ่มขึ้น

“เมื่อ 4G เอื้อต่อการส่งข้อมูลขนาดใหญ่ได้มาก การผลิตคอนเทนต์ที่เป็นวิดีโอคลิปได้รับการถูกพัฒนาตามไปด้วย ต่อไปเราจะได้ดูคลิปวิดีโอที่ถ่ายจากสถานการณ์จริง การนำเสนอมุมมองใหม่ๆ มากขึ้น ในแง่ของของเอเยนซีสามารถนำไปใช้สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อให้แบรนด์ได้รับประโยชน์จากบริการเหล่าได้ดียิ่งขึ้น

อีกเทรนด์ที่จะตามมาจากความเร็วของ 4G ผู้บริโภคจะมาเป็นผู้ผลิตเนื้อหาขึ้นมาเป็นจำนวนมาก เป็นแนวไลฟ์สไตล์ทำอาหาร กิจกรรมต่างๆ ด้วยขนาดความยาวที่แตกต่างกันไป เห็นวิดีโอคลิปหลากหลายมากขึ้น”

“เวลานี้ ยูทิวบ์ เปิดตัว 360 องศา ซึ่งบริการเหล่านี้ต้องการความเร็วอย่างบริการ 4G มาใช้รับส่งข้อมูล เมื่อผู้บริโภครับส่งง่ายขึ้น จะเกิดการพัฒนาคอนเทนต์หลากหลาย แฟนซียิ่งขึ้น เว็บไซต์เองจะต้องเปลี่ยนรูปแบบในการนำเสนอข้อมูล”

อีกเทรนด์ที่จะมาแรง “พรีไซต์ มาร์เก็ตติ้ง” หรือการโฆษณาเฉพาะเจาะจงให้กับผู้บริโภคเฉพาะเจาะจงตามโลเกชั่น หรือตามแต่ละจังหวัด จะทำให้เข้าถึงไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกัน โดยบริการเหล่านี้จะมีเครือข่ายความเร็วของ 4G มาเป็นตัวสนับสนุนให้โฆษณาในรูปแบบดังกล่าวใช้งานได้รวดเร็วยิ่งขึ้น 

เดอะมอลล์เชื่อ 4 G  หนุนเข้าถึงไลฟ์สไตล์

ทางด้าน ชำนาญ เมธปรีชากุล รองกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ก็มองเห็นประโยชน์จากการของ 4G ที่จะเอื้อต่อการสื่อสาร และให้บริการแก่ลูกค้าของห้างฯ ได้ดียิ่งขึ้น และยังตอบโจทย์ทิศทางของเดอะมอลล์ฯ ที่ต้องการมุ่งไปสู่การรักษาฐานลูกค้า โดยเปลี่ยนจาก Mass Marketingไปสู่การทำ CRM และ CEM มุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์ เพื่อเข้าถึงไลฟ์สไตล์ลูกค้าเฉพาะเจาะจงมากขึ้น

การนำเทคโนโลยีมาใช้ จึงเป็นส่วนหนึ่งของสร้างประสบการณ์ ดังนั้นการมาของ 4G จึงทำให้ชำนาญเชื่อว่า การสื่อสารข้อมูล และการทำกิจกรรมต่างๆ ระหว่างห้างฯ และลูกค้า ผ่านเครื่องสมาร์ทโฟน จะได้รับความสะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น 

“อย่างเวลาลูกค้ามาในห้างฯ เขาจะกดเช็กอิน หรือมาเล่นกิจกรรมกับห้างฯ เช่น ให้ลูกค้าโหลดข้อมูลผ่านสมาร์ทโฟนแล้วมารับรางวัล  พอไม่มีสัญญาณ 3G หรือไวไฟ ลูกค้าก็ร่วมกิจกรรมไม่ได้ ผมเชื่อว่า หากผู้ให้บริการขยายไปสู่ 4Gเต็มที่แล้ว ความเร็วในการโหลดข้อมูลจะทำให้เราสามารถสื่อสาร ทำโปรโมชัน และอีเวนต์กับลูกค้าได้เต็มที่ ”

เช่นเดียวกับ วรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป มองว่า ความเร็วในการส่งข้อมูลของเทคโนโลยี 4G จะช่วยให้ห้างฯ การทำโปรโมชัน ได้รวดเร็ว และเรียลไทม์มากยิ่งขึ้น และสนับสนุนให้เกิดความต้องการบริโภค หรือจับจ่ายใช้สอย

เทคโนโลยี 4G ยังเป็นตัวสนับสนุนให้เกิดการสื่อสาร และสร้างอารมณ์ร่วม เธอยกตัวอย่างแคมเปญ Brilliant Thanksรับกับเทศกาลปีใหม่ ซึ่งมีการชิงโชคไปประเทศฟินแลนด์ ทำไมคนถึงรู้สึกว้าว เพราะคนเห็นมาหมดแล้วผ่านออนไลน์ ดังนั้น 4G มาช่วยซัปพอร์ต ทั้งการให้ข้อมูลข่าวสาร และการทำกิจกรรมต่างๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคต

มีเดียเปลี่ยนแน่

ตุลย์ วงศ์ศุภสวัสดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เซเรบอส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า มองว่า 4G ทำให้ภาพรวมของมีเดียเปลี่ยนไป จากเดิมที่เป็น 3G ก็ทำให้ความนิยมในการเสพสื่อของผู้บริโภคดีแล้ว 4G จะเข้ามาอำนวยความสะดวกมากขึ้น เร็วขึ้น จากที่เคยมีปัญหาเรื่องการดาวน์โหลดก็จะทำให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น ซึ่งผู้บริโภคมีการใช้สื่อดิจิตอลมากขึ้น เพราะ 4G เข้ามาสนับสนุน ทำให้เราสามารถทำ Media Planningได้ว่าจะเลือกในการสื่อสารผ่านช่องทางดิจิตอลมากขึ้น มีการทำคอนเทนต์เพื่อตอบรับกับช่องทางนี้

แต่การสื่อสารในช่องทาง Traditional Mediaก็ยังคงทิ้งไม่ได้ เพราะกลุ่มเป้าหมายหลักของแบรนด์ยังคงเป็นกลุ่มผู้ใหญ่อยู่ แต่ต้องมาคิดว่าให้มันเชื่อมโยงกันอย่างไรระหว่างสื่อเดิมและสื่อดิจิตอล

ยามาฮ่า “เทเลอร์เมด โปรโมชัน” มา

จินตนา อุดมทรัพย์ ผู้จัดการใหญ่ด้านการค้า บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด  มองว่า การมาของ 4G จะทำให้เข้าถึงลูกค้าของยามาฮ่าได้ดียิ่งขึ้น ไม่วาจะเป็นการสื่อสารข้อมูล หรือการทำโปรโมชัน โดยที่ยามาฮ่าเองก็ยังไม่ทิ้งแมสมีเดีย แต่การสื่อสารผ่านสมาร์ทโฟน จะทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น

“ลูกค้า 70% ของยามาฮ่าใช้สมาร์ทโฟนในชีวิตประจำวัน  ประมาณ 8 ชั่วโมง เราสามารถส่งข้อมูลไปให้เขาโดยตรง หรือทำเทเลอร์เมด โปรโมชันถึงเขาได้โดยตรง หรือการทำ CRM ก็จะมีลูกเล่นที่หลากหลายยิ่งขึ้น”

ดีไวซ์พร้อมเครื่องข่ายพร้อม

เกรียงไกร และเกรียงกานต์ กาญจนะโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) มองว่า การมาของ 4G ผลักดันให้การสื่อสาร กิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการทำตลาด ซื้อขายในโลกดิจิตอลทำได้เร็วยิ่งขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ายุคนี้ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการความเร็วในการสื่อสาร

“ในฝั่งของดีไวซ์พร้อมอยู่แล้ว ขาดแต่โครงสร้างพื้นฐานที่จะมารองรับ เปรียบไปแล้วก็เหมือนกับมีรถสปอร์ต แต่ถนนยังเป็นลูกรังอยู่ แต่จากนี้ไป เมื่อถนนกลายเป็นซูเปอร์ไฮเวย์ บริการต่างๆ ก็วิ่งได้เต็มประสิทธิภาพ”

เฟซบุ๊ก ชี้ 4 G  ดันโฆษณาบนโมบายบูม

.. เจน แชทเทิล ประธานฝ่ายเทคโนโลยีและกลยุทธ์การสื่อสารผ่านมือถือ Facebook กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา การใช้งบประมาณการโฆษณาผ่านทางทีวีทั่วโลกมีสัดส่วนอยู่ที่ 60-80% ส่วนสื่อดิจิตอล และโมบายยังอยู่ที่ประมาณ 30% (ข้อมูลจากไอดีซี) ส่วนการลงทุนด้านโฆษณาของโทรคมนาคมของไทยยังมีเพียง 4% ซึ่งยังน้อยมากเมื่อเทียบกับทำการตลาดผ่านสื่ออื่น ซึ่งเรียกได้ว่ายังมีอัตราการเติบโตได้อีกมาก

แต่คาดว่าเมื่อมี 4G จะเข้ามาช่วยให้การใช้งบประมาณผ่านสื่อช่องทางนี้ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น การใช้วิดีโอในการสื่อสาร เป็นต้น และจะทำให้การโฆษณาผ่านสื่อดิจิตอลเติบโตตามไปด้วย ประกอบกับในขณะนี้เริ่มมีการเปลี่ยนจากฟีเจอร์โฟนเป็นสมาร์ทโฟน ตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี น่าจะทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้งานดาต้าเพิ่มขึ้น เพราะสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร รวมถึงสินค้า และบริการผ่านช่องทางต่างๆ ได้มากขึ้น