“ฟิวเจอร์พาร์ค” ทุ่ม 4 พันล้าน เปิด “สเปลล์” รองรับลูกค้ากลุ่ม A

ตลาดค้าปลีกยังดุเดือดอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงโค้งสุดท้ายของปี คราวนี้ถึงทีของทางด้าน “ฟิวเจอร์พาร์ค” ที่ได้ครองพื้นที่ในส่วนของกรุงเทพพฯ ตอนเหนือได้อย่างอยู่หมัด ด้วยการเปิดบริการมา 20 ปี ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งห้างสรรพสินค้าที่มีความแข็งแกร่งอย่างมากในโซนนั้น เพราะด้วยจุดยุทธศาสตร์ที่เป็นประตูสู่ต่างจังหวัด หรือเป็นประตูทางเข้าสู่กรุงเทพฯ ก็ได้ และไม่ค่อยมีผู้เล่นเจ้าอื่นในระแวกใกล้เคียงเลย

ในช่วงปีที่ผ่านมาฟิวเจอร์พาร์คเองก็ได้ปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งปรับโฉมรีโนเวท เพิ่มพื้นที่ในส่วนของ Alive Park Hall ในพื้นที่ 2,000 ตารางเมตร เพื่อรองรับการจัดอีเวนต์ต่างๆ และมีการเพิ่มร้านค้า ร้านอาหารเพื่อตอบรับกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปโดยตลอด ในขณะที่ได้มีการแท็คทีมกับพันธมิตรค้าปลีกอีก 2 ราย คือ “เซ็นทรัล” และ “โรบินสัน” ก็มีการรีโนเวทปรับโฉมด้วยเช่นกัน

แต่ด้วยความที่ฟิวเจอร์พาร์คเป็นห้างสรรพสินค้าที่มีความแมสสูงมาก รองรับลูกค้าตั้งแต่กลุ่ม C ไปจนถึง B+ แต่ในขณะที่ปัจจุบันมีหมู่บ้านจัดสรรใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย พร้อมกับสถานศึกษารายรอบอีกเยอะ ทำให้ผู้บริโภคในระแวกนั้นมีกำลังซื้อที่สูงขึ้น จึงกลายเป็น “โอกาส” ที่สำคัญ พร้อมกับ “พื้นที่” โดยรอบที่ยังเหลืออีกมหาศาล จึงผุดโปรเจคต์ ZPELL @ FUTUREPARK (สเปลล์ แอท ฟิวเจอร์พาร์ค)” ขึ้นมา เพื่อตอบรับกลุ่มลูกค้ากลุ่ม A ที่มีกำลังซื้อโดยเฉพาะ

โดยที่คอนเซ็ปต์หลักคือเน้นร้านค้าแฟชั่น และร้านอาหาร มีเพิ่มเติมเข้ามาอีก 200 ร้านค้า แบ่งเป็นแฟชั่น 150 ร้าน และร้านอาหารอีก 50 ร้าน แต่ละร้านจะเป็นแบรนด์ชั้นนำเช่นเดียวกันกับห้างสรรพสินค้าในเมือง อย่างเช่น Uniqlo, Cath Kidston, DA+PP, H&M เป็นต้น

มูลค่าโครงการนี้ฟิวเจอร์พาร์คได้ทุ่มงบรวมกว่า 4,000 ล้านบาท ในพื้นที่ก่อสร้าง 100,000 ตารางเมตร แต่ถ้าเมื่อรวมกับพื้นที่ของฟิวเจอร์พาร์คจะมีพื้นที่รวม 600,000 ตารางเมตร เป็นศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในทันที แต่แบ่งเป็นพื้นที่ขาย 220,000 ตารางเมตร ที่เหลือจะเป็นพื้นที่ส่วนกลาง และลานจอดรถที่รองรับได้รวม 8,400 คัน (ฟิวเจอร์พาร์ค 7,000 คัน และสเปลล์ 1,400 คัน)

พิมพ์พกา หวั่งหลี กรรมการผู้จัดการ ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค กล่าวว่า “ทางฟิวเจอร์พาร์คได้ปรับปรุงเปลี่ยนโฉมอยู่ตลอดเวลา แต่เรามองเห็นการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคโดยตลอดทั้งในเรื่องของประชากรที่มีกำลังซื้อสูงขึ้น มีไลฟ์สไตล์แบบคนเมืองมากขึ้น เราจึงสร้างสเปลล์ขึ้นมาเพื่อรองรับลูกค้าในกลุ่มนี้ ทำให้เขาไม่ต้องเสียเวลาเข้าเมือง ให้สามารถอยู่ในพื้นที่นี้ได้ตลอดโดยที่มีทุกอย่างครบที่เขาต้องการ”   

ในช่วงการเปิดตัว 3 เดือนแรกได้ใช้งบการตลาด 150 ล้านบาท สำหรับการโปรโมทและทำกิจกรรมการตลาด ส่วนในปีหน้าคาดว่าจะใช้งบการตลาด 200 ล้านบาท

แต่ในการเปิดให้บริการในวันที่ 27 พฤศจิการยนที่ผ่านมานั้น ยังไม่ครบสมบูรณ์แบบ โดยคาดว่าจะมีการเปิดบริการครบ 100% ในเดือนมกราคมปี 2559 และจะมีทราฟฟิกราว 50,000 คน/วัน เมื่อรวมกับทราฟฟิกของทางฟิวเจอร์พาร์คที่ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการ 150,000 คน/วัน จะกลายเป็น 200,000 คน/วัน

ปีนี้ฟิวเจอร์พาร์คจะปิดรายได้ที่ 2,000 ล้านบาท การที่มีสเปลล์เข้ามาเสริมทัพมีการคาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้ฟิวเจอร์พาร์คอีก 35% หรือราว 2,600 ล้านบาทในปีหน้าได้

เปิดแผน “ฟิวเจอร์พาร์ค” ทุ่มงบ 4 พันล้าน ปั้น “สเปลล์”

– สเปลล์มีพื้นที่ก่อสร้าง 100,000 ตารางเมตร มี 200 ร้านค้าแฟชั่น และร้านอาหาร ใช้งบลงทุนรวม 4,000 ล้านบาท ถ้ารวมพื้นที่กับฟิวเจอร์พาร์คจะมีพื้นที่รวมเป็น 600,000 ตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่ขาย 220,000 ตารางเมตร

– มีลานจอดรถรองรับ 1,400 คัน ถ้ารวมกับฟิวเจอร์พาร์คที่รองรับได้ 7,000 คัน จะเป็น 8,400 คัน ในแต่ละวันฟิวเจอร์พาร์คมีทราฟฟิกรถยนต์เฉลี่ย 40,000 คัน

– ใช้งบการตลาดช่วง 3 เดือนแรก 150 ล้านบาท ส่วนปีหน้าใช้งบการตลาดรวมทั้ง 2 ศูนย์ 500 ล้านบาท แบ่งเป็นฟิวเจอร์พาร์ค 300 ล้านบาท และสเปลล์ 200 ล้านบาท

– ลูกค้าของฟิวเจอร์พาร์คมียอดการใช้ต่อบิลเฉลี่ย 2,000 บาท ส่วนลูกค้าสเปลล์มีการคาดการณ์ยอดการใช้จ่ายเฉลี่ย 3,000 บาท

– สัดส่วนลูกค้าแบ่งเป็นคนไทย 90% นักท่องเที่ยว 10% ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนและญี่ปุ่น

– สเปลล์จะเปิดบริการครบ 100% เต็มในเดือนมกราคมปี 2559

– ฟิวเจอร์พาร์คตั้งเป้ารายได้ในปีนี้ 2,000 ล้านบาท ส่วนปีหน้าตั้งเป้า 2,600 ล้านบาท หรือเติบโต 35%