พิชญ์ โพธารามิก เจ้าสัว 4 G คนไทยจะต้องรู้จักผู้ชายคนนี้

โบราณว่าคนจะเป็นใหญ่ ต้องใจถึง-พึ่งได้ สำหรับหนุ่มใหญ่มหาเศรษฐีอย่าง “พิชญ์ โพธารามิก” ประเด็นใจถึงนั้นไม่ต้องคุยกันแล้ว แต่เรื่องพึ่งได้นั้นเห็นทีจะเป็น “เพิ่งได้” มากกว่า เพราะพิชญ์เพิ่งนำพาบริษัทของตัวเองไปชนะการประมูลคลื่น 900 MHz ในชุดที่ 1 คลื่น 895-905 MHz คู่กับคลื่น 940-950 MHz ด้วยราคา 75,654 ล้านบาท
 
การเพิ่งได้คลื่น 4G ไทยที่มีราคาแพงที่สุดในโลกไปครอบครอง ทำให้พิชญ์กลายเป็นบุคคลที่คนไทยทั้งประเทศอยากทำความรู้จัก ไม่เพียงอยากรู้ว่าพิชญ์เป็นใครและเคยทำอะไรมา สังคมไทยกำลังจับตาใกล้ชิดว่าพิชญ์จะเริ่มทำอะไรกับคลื่น 4G ที่แม้แต่ยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมไทยอย่างเอไอเอสยังไม่สู้ราคาประมูล รวมถึงเบอร์ 2 ในตลาดอย่างดีแทคที่โบกมือลาไปก่อนเพื่อน
 
ประเด็นสำคัญคือเงินค่าคลื่น 7.5 หมื่นล้านยังไม่เพียงพอ พิชญ์ในนาม “แจส โมบาย” บริษัทลูกของจัสมินยังต้องลงทุนอีกมากกว่า 2.5 หมื่นล้านบาทเพื่อให้คลื่นที่ได้มาสามารถทำเงินได้ ซึ่งแม้จะสามารถผ่อนทยอยจ่ายในหลายปี แต่ความยิ่งใหญ่ของเงินทุน 1 แสนล้านบาทที่เทียบเท่ากับงบประมาณก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ 6 เส้นทางระยะทางนับพันกิโลเมตรนี้ ทำให้การแจ้งเกิดแจส โมบายในฐานะผู้นำทัพโอเปอเรเตอร์น้องใหม่เมืองไทยนั้นเต็มไปด้วยคำถาม ทั้งประเด็นหาเงินจากไหน? ทำงานทันไหม? ตอนนี้ยังไม่มีเสาสักต้นจะสู้โอเปอเรเตอร์รุ่นพี่ไหวหรือ?
 
แน่นอนว่าคำตอบของพิชญ์ในวันนี้สวยหรู พิชญ์แสดงความมั่นใจว่าคนไทยจะได้ใช้งานอินเทอร์เน็ต 4G บนมือถือในความเร็วและราคาที่ดีที่สุด โดย “4G อันลิมิต” จะเกิดขึ้นแน่นอนบนฝันของพิชญ์ที่อยากให้คนไทยได้ใช้อินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือแบบไม่ต้องกลัวติด FUP เหมือนคนเกาหลีหรือญี่ปุ่น 
 
ถามว่าพิชญ์เอาความมั่นใจมาจากไหน คำตอบน่าจะอยู่ในสิ่งที่พิชญ์เคยทำมา
 
ไม่ได้รวยเพราะพ่อ?
 
ย้อนกลับไปช่วงพฤศจิกายน 2546 วันที่ “อดิศัย โพธารามิก” นั่งเก้าอี้ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ ความร่ำรวยมั่งคั่งของตระกูลโพธารามิกถูกย้ายไป ปรากฏในชื่อของพิชญ์ เวลานั้นพิชญ์ถือหุ้นบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) 27.23% ไม่นับรวมหุ้น วอร์แรน JAS-W 41.45% รวมแล้วพิชญ์มีทรัพย์สินกว่า 2,600 ล้านบาท
 
ช่วงเวลานั้นถือว่านับได้ไม่กี่ปีหลังจากพิชญ์ศึกษาจบอนุปริญญา สาขาเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย เซอร์เรย์ (Surrey) ประเทศอังกฤษ และปริญญาตรี สาขาการจัดการ จากลอนดอน สคูล ออฟ อีโคโนมิคส์ (LSE) ในปี 2540 หลังเรียนจบ พิชญ์ไม่ได้ช่วยกิจการของผู้เป็นพ่อ แต่หันมาเริ่มธุรกิจตามความชอบของตัวเอง
 
จริงแท้แน่นอนว่างานที่ทำสามารถสะท้อนตัวตน พิชญ์แสดงความใจเด็ดใจกล้าตั้งแต่ช่วงก่อตั้งกลุ่ม “โมโน กรุ๊ป” ในปี 2545 โดยเริ่มธุรกิจ Venture Capital มาตั้งแต่ยุคดอทคอมบูมช่วงแรก นอกเหนือจากการเทเงินทุนให้สตาร์ทอัปแล้ว พิชญ์ยังนำจัสมินเปิดเนื้อที่ 3,000 ตารางเมตรของอาคารจัสมินมาจัดวางโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งอุปกรณ์สำนักงาน เดินสายเครือข่ายระบบแลน และอินเทอร์เน็ตเครือข่ายความเร็วสูง เพื่อเปิดให้ธุรกิจขนาดเล็ก และนักศึกษามาใช้พื้นที่ได้ฟรีในช่วงแรก เมื่อธุรกิจเติบโตได้จึงจะเก็บเงินค่าเช่า
 
ผลจากธุรกิจ Venture Capital และการใช้เงินทุนซื้อกิจการทำให้โมโนฯ มีเว็บดังในมือหลายค่าย ทั้ง mthai.com, yenta4.com, enjoy108.com, mono2u.com, hotelthailand.com และ monoplanet.com ซึ่งปัจจุบัน บางเว็บล้มหายตายจากไป
 
ไม่เพียงที่ยืนในวงการเว็บไซต์และบริการออนไลน์ พิชญ์มองเห็นแสงสว่างในธุรกิจบันเทิง โดยหันมาปลุกปั้นนิตยสารดารา “Gossip Star” นิตยสาร CANDY และหนังสือ Gossip TV 
 
ไม่พอ กลุ่มบริษัทโมโนของพิชญ์รุกเข้าสู่ธุรกิจภาพยนตร์ในนาม “โมโน ฟิล์ม” ผลิตภาพยนตร์ทั้งดังและดับ รวมถึงค่ายเพลง “โมโน มิวสิค” ค่ายเพลงในสังกัดคือค่ายบัซซ์ มิวสิค และค่ายสตูดิโอโตโม่
 
ธุรกิจที่โดดเด่นที่สุดในช่วงเวลานี้ของโมโน กรุ๊ปต้องยกให้ MONO29 สถานีโทรทัศน์ดิจิตอลในนาม “โมโน บรอดคาซท์” ที่แถลงข่าวพร้อมรบเต็มที่ปีหน้า โดยผู้บริหารโมโนระบุว่าจัดงบพัฒนาคอนเทนต์ 800-900 ล้านบาทเพื่อขยายฐานผู้ชม กระชากเรตติ้งและกระตุ้นยอดขายโฆษณา
 
ด้วยตำแหน่งประธานกรรมการโมโน กรุ๊ป พิชญ์เลือกใช้ยาแรงให้โมโน กรุ๊ปมีความแข็งแกร่งด้านคอนเทนต์ผ่านการทุ่มเงินแย่งซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์และซีรีส์จนมีปัญหากับค่ายใหญ่ที่ทำธุรกิจซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์เพื่อฉายในไทยมาก่อน ลิขสิทธิ์คอนเทนต์มากมายที่ได้มาถูกนำไปต่อยอดบนบริการภาพยนตร์ออนไลน์ “ดูหนังดอทคอม” (Doonung.com) ภายใต้โมโน ฟิล์ม โดยบางเรื่องออกฉายที่โรงภาพยนตร์ และหลายเรื่องถูกนำไปออกอากาศบนสถานีโทรทัศน์ดิจิตอล
 
นอกจากภาพยนตร์ ละคร เพลง เกม สิ่งพิมพ์ ข่าว SMS และคอนเทนต์ดิจิตอลในรูปแบบต่าง ๆ อาณาจักรโมโน กรุ๊ปยังมี “โมโน สปอร์ต” ซึ่งดูแลทีมบาสเกตบอลชื่อโมโนแวมไพร์ บาสเกตบอลคลับ เช่นเดียวกับรายการอลัวร์ซ่า (Allure Zaa) ที่เคยออกอากาศบนช่อง “ซ่าเน็ตเวิร์ก” ทางเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม จนเรียกเสียงฮือฮาเพราะนำเสนอประสบการณ์สุดเซ็กซี่จากมุมสาวสวยที่ผู้ชายอยากรู้ รวมถึงการขยายธุรกิจสื่อและการให้บริการข้อมูลในประเทศอินโดนีเซีย เกาหลี เวียดนาม และฮ่องกง
 
การเติบโตของโมโน กรุ๊ปเกิดขึ้นควบคู่ไปกับกิ่งก้านของจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ที่แตกสาขาไปมากกว่าการเป็น “เสือนอนกิน” งานสัมปทานของภาครัฐ การเติบโตของแจสเป็นไปตามที่พิชญ์เคยให้สัมภาษณ์ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ว่าแจสหรือจัสมินยุคใหม่จะไม่เหมือนเมื่อ 10 ปีก่อนที่พ่อบริหารงานอยู่
 
จัสมินอินเตอร์เนชั่นแนลเป็นบริษัทที่อดิศัย โพธารามิก พ่อของพิชญ์ก่อตั้งขึ้นในปี 2525 สำหรับอดิศัยนั้นมีดีกรีเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐบาลทักษิณ และเป็นหนึ่งในเจ้าพ่อในวงการโทรคมนาคมที่เคยนำพาธุรกิจในเครือชนะการประมูลด้านโทรคมนาคมหลายครั้ง ผลงานโดดเด่นที่สุดคือการที่ทีทีแอนด์ที (บริษัทที่แจสถือหุ้นหลัก) ได้รับสัมปทานโทรศัพท์พื้นฐาน 1.5 ล้านเลขหมายจากทีโอที ปัจจุบัน อดิศัยเป็นสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ที่ศาลตัดสินให้ยุติบทบาททางการเมืองเป็นระยะเวลา 5 ปี และได้ส่งต่อธุรกิจให้ลูกชายเพียงคนเดียวขึ้นมากุมบังเหียนเต็มตัว
 
ก่อนหน้านี้ พิชญ์เคยอยู่เหนือความคาดหวังให้เข้ามาพลิกวิกฤตที่พบในแจสและทีทีแอนด์ที เพราะพิชญ์เคยมีเพียง “ตำแหน่งเล็กๆ” ในบริษัทจัสมินช่วงที่ธุรกิจดอทคอมกำลังเฟื่องฟู และทำงานกับจัสมินไม่กี่ปีก่อนที่จะลาออกในปี 2546
 
ปี 2551 พิชญ์ถูกเรียกตัวให้มารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารแจสด้วยวัย 35 ปี นับจากนั้น จัสมินห้นมารุกงานโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) อย่างจริงจัง พิชญ์พาแจสลงทุนมหาศาลกับการขยายเครือข่าย บรอดแบนด์ของบริษัท ทำให้แจสสามารถอัดโปรโมชันบริการอินเทอร์เน็ตบ้านความเร็วสูงหรือฟิกซ์ บรอดแบนด์ จนทำให้คู่แข่งต้องเต้นตาม ด้วยการเพิ่มความเร็วให้ชาวไทยได้ใช้งานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตอีกหลายเมกะบิตในราคาเท่าเดิม
 

 
เพียง 2 ปี แจสภายใต้การนำของพิชญ์มีรายได้กว่า 7 พันล้านบาท กำไรส่วนใหญ่มาจากบริการอินเทอร์เน็ตบ้าน “3BB” ซึ่งมีจำนวนฐานลูกค้ามากกว่า 2 ล้านครัวเรือน
 
3BB ถูกยกให้เป็นธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างน่าสนใจ หลังจากอัดโฆษณาทีวีจนเป็นที่รู้จัก 3BB สามารถปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ การทำตลาดและทุ่มโปรโมชั่นอัดแคมเปญดัมพ์ราคาบรอดแบนด์จนคนไทยทั้งประเทศได้รับประโยชน์จากการแข่งขันไปด้วย ทุกวันนี้ กลุ่มจัสมินยังยึดธุรกิจสัมปทานภาครัฐในด้านการจัดหา ออกแบบและรับเหมาวางระบบโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมขนาดใหญ่ (System Integrator) และยังจัดจำหน่ายระบบสื่อสารโทรคมนาคมแบบครบวงจร (Solution Provider) ด้วย
 
ทิศทางธุรกิจที่เติบโตทำให้หุ้นจัสมินทะยานก้าวกระโดด ปี 2556 พิชญ์ถูกจัดให้เป็นเศรษฐีหุ้นอันดับ 3 จากอันดับ 18 เมื่อปี 2555 โดยถือครองหุ้นรวมมูลค่าทั้งสิ้น 26,481.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19,327.08 ล้านบาท หรือ 270.12%
 
“แจส โมบาย บรอดแบนด์” ถือเป็นบริษัทลูกบริษัทล่าสุดที่แจสเพิ่งจดทะเบียน ข้อมูลระบุว่าจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2558 ทุนจดทะเบียน 350 ล้านบาท แจส โมบายนี้เองที่จะเป็นแม่งานลุยธุรกิจ 4G ให้จัสมิน โดยจะแบกรับภาระหนี้ทั้งหมดไว้ภายใต้ร่มเงาของจัสมินที่จะทำให้แจส โมบายมีแต้มต่อเหนือกว่าโอเปอเรเตอร์ป้ายแดงรายอื่นของไทย ทั้งธุรกิจโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงหรือไฟเบอร์ออปติก และธุรกิจ 3BB ที่แจส โมบาย หวังให้ฐานลูกค้า 3BB เป็นลูกค้ากลุ่มแรกในปีแรกของแจส โมบาย รวมถึงคอนเทนต์น่าสนใจจากกลุ่มโมโนที่จะผลักดันให้ชาวไทยดูโทรทัศน์ผ่านมือถือกันมากขึ้น
 
“สติ” มี “สตางค์” พร้อม
 
ความกล้าทุ่มเงินประมูลของแจส โมบายสะท้อนความเชื่อมั่นและใจเด็ดของผู้บริหารแจสได้ดี การประมูลคลื่นความถี่ 4G คลื่นความถี่ 900MHz ที่กินระยะเวลากว่า 4 วันเต็มตั้งแต่ 15-19 ธันวาคมที่ผ่านมานั้นสร้างสถิติราคาประมูลที่สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 151,952 ล้านบาท โดยพิชญ์ยืนยันว่าการที่แจส โมบาย ส่งราคาสุดท้ายที่ 75,654 ล้านบาทในการประมูลสล็อตที่ 1 นั้นเป็นการเคาะที่มีสติครบถ้วน เงินทุนนั้นมีพอ และการทำรายได้ให้คืนทุนที่ลงไปนั้นไม่ใช่เรื่องเกินเอื้อม
 
แจสชนะดีแทคที่ส่งราคาสุดท้าย 70,180 ล้านบาทสำหรับประมูล 4G คลื่นความถี่ 900MHz ขณะที่สล็อตที่ 2 ทรูส่งราคาสุดท้ายที่ 76,298 ล้านบาท เหนือกว่าเอไอเอสที่ส่งราคาสุดท้าย 75,976 ล้านบาท
 
พิชญ์ยืนยันว่าการประมูลครั้งนี้ไม่ได้ทำให้ต้นทุนลุยธุรกิจ 4G ของบริษัทสูงมากมาย โดยอธิบายว่าหากแจสต้องรับพนักงานใหม่ทั้งหมด หรือลงมือขยายหน้าร้านแบบปูพรม เมื่อนั้นจึงเรียกว่าทุนสูง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือแจสมีทรัพยากรเหล่านี้อยู่แล้ว อาจจะขยายบุคลากรหรือหน้าร้านเพิ่มเล็กน้อย ซึ่งการขยายนี้จะทำให้แจสมีรายได้เพิ่มจากธุรกิจ “เน็ตบ้าน” ที่มีอยู่เดิม มาโกยเงินเข้ากระเป๋าจากธุรกิจ “เน็ตมือถือ” ได้อีกทาง
 
อีกสิ่งที่พิชญ์พยายามแสดงออกให้โลกเห็นหลังการชนะประมูล คือความมั่นใจว่าสามารถทำเงินจากสิ่งที่ประมูลมาได้บนทรัพยากรดั้งเดิมที่มีอยู่ ขณะเดียวกัน พิชญ์ยังพยายามเน้นว่าแจสมีกลยุทธ์รอบด้านเพื่อแทรกตัวเป็นโอเปอเรเตอร์มือถือรายใหม่ของเมืองไทย
 
แม้แต่การประมูลที่ผ่านมา พิชญ์ก็เฉลยว่าเป็นผลจากการใช้แท็กติกที่วางเกมไว้ โดยชัยชนะครั้งนี้ของแจส โมบายเกิดขึ้นบนความพ่ายแพ้การประมูล 4G คลื่นความถี่ 1800MHz เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2558 ที่ผ่านมา ครั้งนั้นผู้ชนะการประมูลคือ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น ประมูลได้ใบอนุญาตใบแรกไปในราคา 39,792 ล้านบาท และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค ประมูลได้ใบอนุญาตใบที่สอง ราคา 40,982 ล้านบาท
 
แจสถูกพูดถึงในฐานะเป็นผู้ที่กล้าสู้จนดันราคาประมูลทั้ง 2 ครั้งขึ้นมาสูงเป็นประวัติการณ์ ครั้งการประมูล 1800Mhz พิชญ์ซึ่งเป็นตัวแทนแจสเข้าประมูลตัดสินใจหยุดที่ 3.9 หมื่นล้านบาท ท่ามกลางคววามเข้าใจว่าแจสเลือกที่จะไม่สู้เพราะเงินเกือบ 4 หมื่นล้านบาทนี้มากกว่ามูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของกลุ่มบริษัท จัสมิน เองอยู่ที่ประมาณ 3.7 หมื่นล้านบาท และสินทรัพย์รวมของกลุ่มบริษัท จัสมิน ที่มีมูลค่า 5.2 หมื่นล้านบาท หนี้สินอีกกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท
 
แม้จะมีเรื่องเล่าบางกระแสบอกว่า อดิศัย โพธารามิกไม่พอใจที่ลูกชายเลิกเคาะประมูลต่อจนทำให้คลื่น 1800Mhz หลุดมือ พิชญ์จึงไม่ได้เป็นตัวแทนเข้าประมูลคลื่น 900Mhz แต่เรื่องนี้พิชญ์เอ่ยปากเองว่าเป็นแท็กติกที่บริษัทเลือกใช้ เพื่อสับขาหลอกให้เกิดความได้เปรียบในการประมูล
 
“เงิน 7 หมื่นล้านบาทยอมรับว่าเยอะ แต่เรารู้อยู่แล้วว่าราคาประมูลคลื่นต้องสูงแน่นอน เรารู้ด้วยว่ามีบางฝ่ายไม่ต้องการให้แจสเข้ามาเป็นผู้เล่นใหม่ในอุตสาหกรรมโอเปอเรเตอร์ ทุกอย่างอยู่ที่แท็กติก สำหรับแจสคลื่น 900Mhz ดีที่สุด คลื่น 900MHz ทะลุทะลวงกว่าไกลกว่าคลื่นย่าน 1800MHz” พิชญ์กล่าวในทำนองว่าคู่แข่งอาจเข้าใจผิดว่าแจสไม่จริงจังกับการประมูลคลื่น 900Mhz เพราะหัวเรือใหญ่อย่างพิชญ์ไม่เข้าประมูลคลื่น 900Mhz เหมือนครั้ง 1800MHz
 
การทุ่มเงินประมูลใบอนุญาตสำหรับพิชญ์ไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้ พิชญ์เคยหอบเงิน 2,250 ล้านบาทไปประมูลทีวีดิจิตอลเมื่อปี 2556 จนชนะและเกิดเป็นทีวีดิจิตอลช่องโมโน ซึ่งติดอันดับเรตติ้งสูง Top 10 ของทำเนียบช่องดิจิตอลยอดฮิตด้วย
 
น้องใหม่สุดแสบ
 
พิชญไม่หวั่นใจกับคำกล่าวที่ว่าการเป็นโอเปอเรเตอร์รายใหม่ของไทยมักอยู่ได้ไม่นาน การรับน้องใหม่ของโอเปอเรเตอร์รุ่นพี่ที่มักรุนแรงจนทำให้น้องใหม่ไม่มีที่ยืนในตลาดนั้นเกิดขึ้นหลายครั้งแล้วในประเทศไทย แต่สำหรับกรณีของแจส พิชญ์มองว่าน้องใหม่อย่างแจสนั้นแสบสันไม่ยอมใคร
 
หากแจสสามารถคงความแสบและยืนหยัดได้ในตลาดมือถือไทย วงการธุรกิจผู้ให้บริการมือถือต่อจากนี้จะมีการหั่นราคาแข่งดุเดือดแน่นอน เพราะจากเดิมที่โอเปอเรเตอร์ 3 เจ้าจัดโปรโมชั่นแข่งขันกันดุเดือดอยู่แล้ว การเพิ่มจำนวนเป็นโอเปอเรเตอร์ 4 รายย่อมทำให้ราคาโปรโมชั่น 4G ของไทยจะมีการตัดราคาเผ็ดมันมากขึ้นแน่นอน
 
อย่างไรก็ตาม สนนราคาบริการ 4G คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 500-600 บาทเท่ากับ 3G จุดนี้พิชญ์ระบุว่าได้สำรวจต้องการผู้ใช้สมาร์ทโฟนจนพบว่าราคาแพ็คเกจที่ผู้บริโภครับได้คือไม่เกิน 600 บาท
 
แต่เป็น 600 บาทที่พิชญ์ยืนยันว่าอัดแน่นด้วยคุณภาพแน่นอน
 

 
คำต่อคำ “พิชญ์ โพธารามิก”เปิดใจหลังชนะประมูล 4G 900MHz
 
ก่อนอื่น ผมต้องขอบคุณ กสทช ที่จัดการประมูลครั้งนี้ขึ้น การได้คลื่น 900MHz ถือเป็นก้าวสำคัญในการรวมธุรกิจฟิกซ์บรอดแบนด์และโมบายบรอดแบนด์เข้าด้วยกัน เรามีฮอตสปอตแสนจุดแล้ว อนาคตจะเห็นการใช้งาน Mobile Internet เพิ่มขึ้น
 
เป้าหมายปีแรกของเราคือ 2 ล้านเลขหมายในปี 2559 วันนี้เรามีฐานลูกค้า 3BB เดิมอยู่แล้ว 2 ล้านครัวเรือน แต่ละครัวเรือนมีลูกค้าราว 2-3 คน (พ่อแม่ลูก) รวมเป็น 6-8 ล้านราย ยังมีลูกค้ากลุ่มอื่นที่ต้องการใช้งานดาต้าร่วมด้วย เขื่อว่าภายใน 3 ปีข้างหน้าจะมีลูกค้าอย่างน้อย 5 ล้านราย เป้าหมายนี้ไม่ยากเกินไป
 
แหล่งเงินทุน 75,654 ล้านบาทเอามาจากไหน คำตอบคือหลากหลายทาง หนึ่งคือกระแสเงินสดที่กองทุน JASIF มีอยู่ในมือเกินหมื่นล้านหลังจากจ่ายปันผลปีนี้ไปแล้ว สองคือรายได้จากการดำเนินงานของบริษัท โดยเฉพาะ 3BB ที่มีรายได้มากกว่า 5 พันล้านบาทต่อปี
 
สามคือการออก Warrant อายุ 5 ปี ถ้าเราบริหารได้ครบตามจำนวนก็จะได้เพิ่มอีก 1.5 หมื่นล้านบาท สี่คือโปรเจกต์ไฟแนนซิ่ง ที่ได้มีการพูดคุยกับธนาคารใหญ่ไว้แล้วก่อนหน้านี้ วงเงินรวมตรงนี้ทั้งหมดหลายหมื่นล้านบาท สรุปว่าเงินพอ
 
ผมอยากให้มองว่าการทำธุรกิจ Mobile ของเราก็เหมือนโปรเจ็กต์หนึ่ง ดังนั้นการกู้ก็สามารถทำได้ และถ้าเราสามารถเติบโตได้เร็ว ก็ยังทำ IPO ได้อีก ที่บริษัท แจส โมบาย ได้อีก ย้ำว่าเป็น IPO ของบริษัทลูก
 
ห้าคือการใช้ประโยชน์จากกองทุน JASIF ที่มีมูลค่ากองทุนกว่า 5.5 หมื่นล้านบาท ตรงนี้ยังกู้ได้อีก 3 เท่าตัว
 
เราอาจจะมีพาร์ตเนอร์จากต่างประเทศ ผมขอยังไม่เปิดเผยรายชื่อ ถ้าเข้ามาก็จะเข้ามาในระดับหนึ่ง ไม่ใช่ถือหุ้นใหญ่แน่นอน
 
จุดสำคัญคือผู้ถือหุ้น แจส ทุกคน ขอให้ทุกคนไม่ต้องกังวลเพราะจะไม่มีการเพิ่มทุนในระดับของ แจส อย่างแน่นอน ทุกอย่างที่ทำจะไปอยู่ที่บริษัทลูก (ภายใต้ แจส โมบาย) ดังนั้น จะไม่มีอะไรกระทบต่อผู้ถือหุ้น แจส แต่ผู้ถือหุ้นจะได้ประโยชน์จากบริษัทที่ประมูลคลื่นความถี่มาได้
 
Key Point ใหญ่ที่หลายคนถามกันมาก คือเราทำงานกันทันไหม ตั้งแต่เราแถลงข่าวเมื่อต้นปี เราก็เริ่มทำงานตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว เรามีการเซอร์เวย์ลูกค้า ถามว่าถ้ามีบริการ Mobile ลูกค้าต้องการความเร็วเท่าใดในราคาเท่าใด
 
ณ วันนี้ แจสมีบุคลากรมากกว่า 6,000 คนทั่วประเทศ มีหน้าร้านมากกว่า 300 ร้านอยู่แล้ว
 
จุดติดตั้งเสา เราดูมาหมดแล้ว คาดว่าจะเช่าจากหน่ายงานรัฐวิสาหกิจ บางจุดสร้างเอง
 
ตั้งแต่ต้นปีมา บุคลากรเราเทรนเรื่อง 4G มาตลอด ฝ่ายขาย และฝ่ายเทคนิคมีความเข้าใจในเทคโนโลยีอยู่แล้ว
 
ที่เราตั้งใจเอาคลื่น 99MHz เพราะมีทุนต่ำ การลงทุนจะราคาถูกกว่า 1800MHz แน่นอน
 
ต้องขอบคุณ กสทช ที่จัดรูปแบบการจ่ายเงินประมูลคลื่น 900MHz ให้ดีกว่า 1800MHz เพราะคลื่น 1800 ต้องจ่าย 50% ของเงินประมูลทั้งหมด และปี 2-3 อีก 25% แต่คลื่น 900 จ่ายที่ 8000 ล้านบาทปีแรก ปีที่ 2-3 จ่ายอีกปีละ 4,000 ล้านบาท ที่เหลือจ่ายปีที่ 4 การจ่ายเงินแบบนี้ทำให้ผู้เล่นใหม่อย่างเราเข้าตลาดได้
 
ภายในไม่กี่เดือน เราจะเริ่มให้บริการ แจส 4G เราทำงานไปเยอะแล้ว แค่รอให้ประมูลได้ 
 
ปีหน้าจะได้เห็นผู้ให้บริการรายใหม่ แบรนด์ใหม่เกิดขึ้น ให้ประชาชนได้มีทางเลือกมากขึ้น แต่เรื่องชื่อของแบรนด์จะบอกอีกครั้ง
 
เราขอไม่ระบุไตรมาสที่เริ่มให้บริการ แต่ยืนยันว่าจะเริ่มให้บริการเร็วที่สุด ผู้รับเหมา ซับพลายเออร์ ทุกอย่างเราคุยไว้หมดแล้ว เราไม่ต้องลงทุนไรเพิ่ม เรามีช็อปอยู่แล้ว ถึง 3BB จะไม่เน้นช็อปแต่ที่เรามีนั้นเหลือเฟือ อาจจะมีลงทุนในแง่ของบุคลากรเพิ่ม ในหลักร้อยเท่านั้น
 
ลูกค้าเข้าใจแล้วว่าซื้อซิมได้ที่ไหน เรื่องการขายไม่ใช่เรื่องใหญ่มาก แต่เรื่องเซอร์วิสเป็นเรื่องสำคัญกว่า เราจึงจะลงทุนในส่วนนี้
 
การลงทุนโครงข่ายที่วางไว้เบื้องต้นคือ 20,000 ล้านบาท อยู่ในระดับ 2 หมื่นกลางๆ งบประมาณนี้วางไว้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ทยอยลงทุนใน 3 ปี คิดว่าพอ และเงินน่าจะเหลือ
 
ถ้าพูดถึงเรื่องการแข่งขัน ขอให้ดู 3BB เราเป็นผู้นำเรื่องการเพิ่มเมกะบิต เราเน้นเซอร์วิสให้ดีที่สุด ย้อนกลับมาดูโมบาย สิ่งที่เราได้ใช้งานตอนนี้ถือว่าน้อย อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงใช้ได้ 3-4Gb ก็ช้าแล้ว การสำรวจลูกค้า 3BB พบว่าเดือนหนึ่งลูกค้าต้องการใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 30Gb กลางเดือนก็หมดแล้ว ต้องเติมเงิน
 
เทียบกับญี่ปุ่น เกาหลี ประชาชนใช้งานได้มากกว่านี้เยอะ ตรงนี้ถือเป็นเป้าหมายที่เราจะไป ให้ลูกค้าได้ใช้งานมากที่สุด ในราคาที่ดีที่สุด
 
เราจะทำให้เหมือนธุรกิจฟิกซ์บรอดแบนด์ คือให้ลูกค้าใช้งานได้เต็มที่ เท่านี้ก็จะทำให้ตลาดเติบโต
 
สิ่งที่เราจะเห็นในอนาคต คือการใช้อินเตอร์เน็ตบนอุปกรณ์โมบายหรือสมาร์ทโฟนจะไม่มีข้อจำกัด นี่คือพันธกิจหลักของแจส
 
ผมเพิ่งจะประมูลได้เมื่อวันศุกร์เองนะ ถึงจะคุยกับธนาคารไว้นานแล้วแต่ที่ผ่านมาก็ยังมีความไม่แน่นอน การประมูลกินเวลามากกว่า 3 วัน 4 คืน ตอนนั้นพันธมิตรก็ยังไม่เห็นความชัดเจนว่าเราจะได้คลื่นไหม ทั้งหมดนี้ทำให้เรายังบอกวงเงินกู้ไม่ได้
 
จุดคุ้มทุนยังบอกไม่ได้ แต่เป้าหมายลูกค้าปีแรก 2 ล้านเลขหมายและ 3 ปี 5 ล้านเลขหมาย ตัวเลขนี้ก็มีกำไรแล้วในปีที่ 3
 
ลูกค้า 3BB เดิม ถ้าใช้งาน 4G ด้วยก็จะมีราคาพิเศษแน่นอน
 
โพสิชันนิ่งเรา ถ้าลองคิดดู โอเปอเรเตอร์ไทยมีกี่รายที่มีทั้งฟิกซ์และโมบายพร้อมกัน มีรายหนึ่งที่เป็นเนชั่นไวล์จริงๆ รายอื่นๆ ที่พลาดการประมูลไป ก็มีเพิ่งเข้าไปที่ฟิกซ์ แต่ฐานลูกค้าก็ไม่ได้เยอะมาก ทำมาปีกว่าตัวเลขไม่ได้สูง มีแค่ 1 รายที่ทำฟิกซ์และโมบายพร้อมกัน ที่เนชั่นไวล์จริงๆ เราเป็นรายที่ 2 ที่มีทั้งฟิกซ์และโมบาย อย่าลืมว่าฐานฟิกซ์ของเรามีทุกจังหวัดมี 75% ในทุกตำบลทั้งประเทศ
 
ทุกคนมองว่าธุรกิจนี้เป็นธุรกิจ Red ocean แต่ผมมองว่าเป็น Blue ถ้าไปแยกดูรายได้ของแต่ละโอเปอเรเตอร์ส่วนใหญ่เป็นรายได้ voice แต่ Data ที่เป็นหัวใจหลักจริงๆ คุณภาพจริง อย่างรายใหญ่เองยังแค่เริ่มหลังจากประมูล 1800 ไป ในตลาดโมบาย 4G ถือว่าใหม่มาก
 
ณ วันนี้ ไลฟ์สไตล์ทุกคนเปลี่ยน เราทำทุกอย่างผ่านสมาร์ทโฟน แจสจะสามารถ upsize รายได้ของเราจากจุดนี้ เพราะฉะนั้นมุมมองไม่เหมือนกัน การแย่งลูกค้ามันก็จะเกิดขึ้น ความเสี่ยงที่เรา Take เราอาจจะ Fight ได้มากกว่าเค้า 
 
เราจะทำทุกอย่างตามที่ กสทช กำหนด เรื่องข่าวที่บอกว่าราคาประมูลสูงจะทำให้หยุด ต้องบอกว่าทุกอย่างอยู่ในเกณฑ์ของ กสทช หมด แบงค์ที่เสนอก็หลายราย supplier ก็หลายราย เชื่อว่าคงไม่มีใครกล้าเข้าตลาดโมบายอีกหลายปี
 
ตอนนี้ยังไม่มีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการว่าใครจะเป็น CEO แบรนด์ใหม่ ใน 3 ปีข้างหน้า ถ้าเรามีลูกค้าเยอะในระดับหนึ่งก็อาจมีการขยับ พาร์ทเนอร์ต่างชาติที่เข้ามาคุยตอนนี้มีมากกว่า 2 ราย พาร์ทเนอร์จะไม่ใช่ผู้ถือหุ้นหลักแน่นอน ผมยังภูมิใจว่าใบอนุญาตคลื่น 4G ไทยอยู่ในมือบริษัทไทย
 
ถ้าเป็นตามแผนที่วางไว้ ในปีที่ 3 แจส โมบายจะสามารถสร้างกำไรได้