“แอปส่งข้อความ” ศูนย์กลางใหม่ของโลกไอที 2016

“หน้าที่ของแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนทุกวันนี้คือ การสรรหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ให้ตรงต่อความต้องการใช้งานของผู้ใช้มากที่สุด”
 
ผู้ที่กล่าวประโยคนี้คือ ดร.Angel Luis Dias จากไอบีเอ็ม (IBM) บริษัทยักษ์ใหญ่ซึ่งเป็นเจ้าของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) อย่างวัตสัน (Watson) ซึ่งหากพิจารณาสถานการณ์ของโลกไอทีในปัจจุบันก็อาจเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะในสมรภูมิ “แอปส่งข้อความ” ที่ขณะนี้มีข่าวลือว่า “กูเกิล” (Google) ได้กระโดดลงมาพัฒนาแอปดังกล่าวแล้วอีกหนึ่งราย ส่วนในตลาดก็มีบริการมากมายให้เลือกใช้ ทั้ง Facebook Messenger, HipChat, Slack ฯลฯ
 
โดยความพิเศษของแอปส่งข้อความจากกูเกิลคือ มี AI คอยจัดการอยู่เบื้องหลัง ซึ่งผู้ที่เปิดเผยข่าวลือโปรเจกต์ลับของกูเกิลอย่างวอลล์สตรีท เจอร์นัล ได้ระบุชื่อหัวหน้าทีมพัฒนาว่าคือ “Nick Fox” รองประธานด้านคอมมูนิเคชันของกูเกิล แต่การทำงานหลักๆ ของแอปนี้ยังไม่มีใครทราบ มีเพียงภาพคร่าวๆ ว่า แอปดังกล่าวของกูเกิลจะทำงานโดยผ่านแชตบ็อต (Chatbot) ที่ควบคุมโดย AI ดังนั้น แทนที่ผู้ใช้จะป้อนคำค้นหาลงในเสิร์ชเอนจินของกูเกิล ก็เปลี่ยนมาส่งคำถามในรูปของข้อความให้แชตบ็อท แล้วแชตบ็อทจะหาคำตอบมาให้
 
การเข้ามาของ AI ยังทำให้โฉมหน้าของเว็บ และเสิร์ชเอนจินเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะ AI จะทำให้แอปต่างๆ แปรสภาพกลายเป็นผู้ช่วยของมนุษย์มากขึ้น ซึ่งอีกด้านหนึ่งแล้ว เท่ากับ AI กลายเป็นเครื่องมือลดความสำคัญของเว็บพอร์ทัลต่างๆ ลงไป เนื่องจากมนุษย์ไม่จำเป็นค้นหาข้อมูลตามเว็บต่างๆ ด้วยตัวเองอีกแล้ว
 
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในปี 2015 จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นปีแห่งการปฏิวัติโฉมหน้าของ “บริการรับส่งข้อความ” อย่างแท้จริง เพราะนอกจากกูเกิลแล้ว บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก เช่น เฟซบุ๊ก (Facebook) สแล็ค (Slack) แอสลาสเชียน (Atlassian) ทวิตเตอร์ (Twitter) ฯลฯ ต่างขยายอิทธิพลเข้าสู่ตลาดรับส่งข้อความนี้กันถ้วนหน้า และด้วยความเป็นบริษัทเทคโนโลยีชื่อดัง หัวกะทิจากบริษัทเหล่านี้จึงมีส่วนทำให้บริการรับส่งข้อความในยุค 2015 นี้เป็นมากกว่าบริการที่ใช้แค่รับส่งข้อความ คลิป ภาพ เสียง ฯลฯ จนบางคนมองว่ามันเริ่มมีลักษณะใกล้เคียงกับระบบปฏิบัติการ (Operating System) เข้าไปทุกที
 
แต่หากมองย้อนไปเมื่อปี ค.ศ.2014-ช่วงต้นปี 2015 เทรนด์ดังกล่าวนี้อาจยังไม่ชัดเจน มีเพียงภาพรวมกว้างๆ ว่าบริษัทเทคโนโลยีจำนวนหนึ่งกำลังพุ่งเป้าพัฒนามาที่บริการรับส่งข้อความ และการมีผู้ช่วยคอยจัดการงานต่างๆ ให้ผู้ใช้ ภาพเหล่านั้นมาชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆ กับความสามารถของแอปส่งข้อความที่ทำงานได้หลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ นีลเซ็น (Nielsen) ได้มีการจัดอันดับแอปพลิเคชันยอดนิยมของอเมริกันชนประจำปี ค.ศ.2015 และพบว่า Facebook Messenger ติดมาในอันดับที่ 3 ด้วยยอดผู้ใช้งานเฉลี่ยเดือนละ 96 ล้านคน
 
 
แอปเปิลไปไหน?
 
อีกครั้งที่เทรนด์ดังกล่าวไม่มีชื่อของ “แอปเปิล” (Apple) แบรนด์อันดับ 1 ของโลกร่วมขบวนด้วย ซึ่งอาจเป็นเพราะแอปเปิลมีความมั่นใจในกลยุทธ์ของตนเองสูงมากว่าจะสามารถเดินหน้าต่อไปในทิศทางที่วางไว้ แต่ก็ใช่ว่าแอปเปิลจะไม่สนใจ AI เพราะทางบริษัทเองเพิ่งมีการซื้อกิจการที่เกี่ยวกับ AI ไปเมื่อไม่นานนี้ โดยเป็นบริษัทเล็กๆ แห่งหนึ่งของอังกฤษ ชื่อ Vocal IQ ผู้วิจัยและพัฒนาซอฟต์แวร์ให้ผู้ใช้งานสามารถพูดคุยได้ตามธรรมชาติผ่านอุปกรณ์อัจฉริยะ แต่นักวิเคราะห์คาดว่า อาจนำไปผนวกกับผู้ช่วยดิจิตอลของทางค่ายอย่าง Siri เสียมากกว่า
 
สำหรับประเด็นว่าแอปเปิลไปไหนนั้น นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งคาดการณ์ถึงสาเหตุที่ยังไ่ม่มีชื่อของแอปเปิลร่วมขบวนแอปส่งข้อความนั้น อาจเป็นเพราะว่ากลยุทธ์ของแอปเปิลทุกวันนี้ประสบความสำเร็จด้วยดี และสามารถทำเงินเข้ากระเป๋าได้อย่างเป็นกอบเป็นกำผ่านการทำให้โปรดักต์แต่ละตัวเชื่อมโยงเข้าหากัน โดยมีไอโฟน (iPhone) และแอปสโตร์ (App Store) เป็นศูนย์กลาง
 
สำหรับไอโฟนนั้นคงไม่ต้องพูดถึง เพราะแหล่งรายได้หลักของแอปเปิลเลยทีเดียว ส่วน “แอปสโตร์” นั้นถือเป็นศูนย์รวมเครื่องมือสำหรับการทำงานที่เป็นเครื่องพิมพ์แบงก์ให้แก่แอปเปิลอีกที ซึ่งทุกวันนี้ยังคงเป็นแหล่งรวมของแอปน่าสนใจ นักพัฒนาเก่งๆ และลูกค้าที่มาสรรหาแอปที่ตรงต่อความต้องการ
 
แต่ถ้าวันหนึ่งแอปพลิเคชันส่งข้อความเข้ามาเปลี่ยนแปลงด้วยการ “ให้บริการได้ทุกอย่าง” ผ่านผู้ช่วยสารพัดยี่ห้อ นั่นอาจทำให้ทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนไป ซึ่งอาจสะเทือนไปถึงระบบเมกมันนี่ของแอปเปิล หรือตลาดสมาร์ทโฟนทั้งหมดเลยก็เป็นได้
 
จุดศูนย์กลางของพายุก็คือ “เฟซบุ๊ก”
 
ตอนนี้เฟซบุ๊กมีการผนวกบริการอัจฉริยะหลายๆ อย่างให้ผู้ใช้งาน Facebook Messenger กว่า 800 ล้านคนใช้งานได้โดยตรง เช่น การสั่งซื้อสินค้า จ่ายเงินภายใน Facebook Messenger ที่สามารถจัดการได้เบ็ดเสร็จโดยไม่ต้องเปิดแอปอื่นขึ้นมาให้วุ่นวาย
 
ไม่นับบริษัทอื่นๆ ที่จับมือกันอีกมากมาย เช่น บริการเรียกรถของค่าย Lyft ได้ผ่านแอปของ Slack หรือเรียกรถอูเบอร์ได้จาก HipChat ของค่าย Altassian ที่ผู้ใช้ไม่ต้องออกจากหน้าจอแชตเพื่อไปเปิดแอปอื่นขึ้นมาอีกต่อไป
 
การมี “แอป” อยู่ในบริการแชตจึงตอบโจทย์ความต้องการทั้งปวงของมนุษย์ยุคต่อไปได้ตรงที่สุด เพราะนักพัฒนาตระหนักดีแล้วว่า ผู้ใช้งานชอบ “แชต” และไม่ชอบ “ออกจากแอปหนึ่งเพื่อไปทำงานในอีกแอปหนึ่ง”
 
จุดเปลี่ยนของรายได้อยู่ตรงที่ จากนี้ต่อไปผู้ใช้ Facebook Messenger ไม่ต้องสนใจแล้วว่า พวกเขาอยู่บนระบบใด เพราะไม่ว่าจะเป็น iOS หรือแอนดรอยด์ ก็สามารถทำงานได้หมด ตราบเท่าที่ในตัวเครื่องติดตั้ง Facebook Messenger
 
หากมองในมุมผู้ใช้งานนี่คือการอำนวยความสะดวกที่ใครๆ ก็ต้องการ มีแอปพลิเคชัน ผู้ช่วยดิจิตอลคอยช่วยในการเดินทาง จับจ่ายใช้สอย จองห้องพัก ภัตตาคาร ฯลฯ แต่ถ้าเทรนด์นี้ดำเนินต่อไป อนาคตข้างหน้าใครจะต้องการ App Store หรือ Google Play อีก เพราะแค่มี Facebook Messenger เพียงแอปเดียวก็ทำงานต่างๆ ได้ทั้งหมด ยิ่งสำหรับแอปเปิลนั้นหากปล่อยให้เทรนด์นี้ดำเนินต่อไป ความสำคัญของ App Store จะค่อยๆ ลดลง นักพัฒนาอาจหันไปพัฒนาปลั๊กอินสำหรับต่อเข้ากับแอปส่งข้อความ แทนที่จะต้องมาปวดหัวกับการแบ่งว่าจะพัฒนาอยู่บน iOS ดีหรือแอนดรอยด์ดี
 
ถ้าปล่อยให้เวลานั้นมาถึง ห่านทองคำอย่างไอโฟนก็อาจช่วยอะไรไม่ได้อีกต่อไป…