Netflix มา ใครสะเทือน?

6 มกราคม 2016 คือวันที่เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่งอันดับ 1 ของสหรัฐฯ ประเดิมให้บริการแก่ผู้ใช้ชาวไทยอย่างเป็นทางการ เพียง 1 วัน แอปพลิเคชัน Netflix กลายเป็นหนึ่งในแอปพลิเคชันยอดนิยมของผู้ใช้ไอโฟน และแอนดรอยด์ ไล่ตามแอปพลิเคชันจากบริการอย่างไอฟลิกซ์ (iflix) และไพรม์ไทม์ (PrimeTime) ที่ให้บริการในไทยมาก่อนหน้านี้แบบหายใจรดต้นคอ ปรากฏการณ์นี้สะท้อนว่าวงการวิดีโอออนไลน์ในเมืองไทยกำลังสั่นสะเทือนเพราะขาใหญ่ระดับโลก ซึ่งแน่นอนว่าใครที่ปรับตัวสู้ไม่ได้ ก็จะต้องพ่ายแพ้กลับไปนอนร้องไห้ที่บ้านตามระเบียบ
 
การมาบุกไทยของ Netflix นำไปสู่คำถามมากมาย โดยเฉพาะประเด็นว่า Netflix จะละลาย “พฤติกรรมนิยมชมหนังฟรี” ของคนไทยได้สำเร็จหรือไม่? ตลาดไทยหลังจาก Netflix เข้ามาคลุกวงในจะเป็นอย่างไร? และที่สำคัญคือ ผู้ให้บริการวิดีโอออนไลน์แบบสมัครสมาชิก 5 ค่ายหลักที่ทำตลาดไทยมาก่อนจะสู้ศึกกับ Netflix ได้ด้วยวิธีใด?
 
คำตอบของคำถามเหล่านี้สะท้อนภาพของอุตสาหกรรมเช่าวิดีโอออนไลน์เมืองไทยที่เป็นอยู่ในขณะนี้ รวมถึงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างชัดเจน
 
ทำไมมีแต่คนสนใจ Netflix?
 
Netflix เป็นผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่งอันดับ 1 ของสหรัฐฯ ตัวเลขยอดสมาชิกแบบเสียค่าบริการรายเดือนของ Netflix พุ่งสูงถึง 69 ล้านคน ใน 60 ประเทศ เฉพาะในสหรัฐฯ ยอดสมาชิกแบบเสียค่าบริการรายเดือนของ Netflix ทะลุแซงหน้ายอดสมาชิกรายเดือนของเคเบิลทีวีอย่างเอชบีโอ (HBO) ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2013 ทั้งหมดนี้ทำให้ Netflix มีดีกรีเป็นผู้ให้บริการวิดีโอออนไลน์ที่มีผู้ชมแบบจ่ายค่าบริการมากที่สุดอันดับ 1 ในสหรัฐฯ
 
ความยิ่งใหญ่ของ Netflix เกิดขึ้นหลังจากเริ่มก่อตั้งบริษัทในปี 1997 เวลานั้น Netflix แจ้งเกิดในฐานะบริษัทเช่าแผ่นดีวีดีภาพยนตร์ทางไปรษณีย์ ตามประวัติบันทึกว่า รีด แฮชติงส์ (Reed Hastings) ผู้ก่อตั้ง Netflix ได้เช่าภาพยนตร์เรื่อง Apollo 13 แต่ถูกปรับเงิน 40 ดอลลาร์เพราะไม่สามารถคืนแผ่นทันกำหนด
 
รีด เห็นช่องทางทำธุรกิจนี้ทันที Netflix จึงยึดแนวคิดให้บริการแก่ผู้ไม่สะดวกเดินทางไปร้านเช่าแผ่นภาพยนตร์เป็นหลัก จุดนี้มีข้อมูลว่า ผู้ก่อตั้ง Netflix ใช้เงินจำนวน 2.5 ล้านดอลลาร์เป็นเงินลงทุนในช่วงแรกเพื่อทำระบบยืมคืน และแคตตาล็อกออนไลน์บนเว็บไซต์ โดย 2 ปีต่อมา Netflix เพิ่มรูปแบบการเก็บค่าบริการสมาชิกรายเดือน เพื่อให้ลูกค้ายืมภาพยนตร์ได้ไม่จำกัดเรื่อง และไม่มีกำหนดวันคืน
 
Netflix กลายเป็นที่นิยมของคอหนัง ก่อนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ช่วงปี 2002 ด้วยสถิติยอดการยืมภาพยนตร์ 190,000 แผ่นต่อวัน และจำนวนสมาชิกเหมาจ่ายรายเดือน 1 ล้านคน
 
กระทั่งปี 2007 แนวโน้มการเช่าแผ่นภาพยนตร์ที่ลดลง ทำให้ Netflix เริ่มพัฒนา และให้บริการดูวิดีโอแบบสตรีมมิ่งผ่านอินเทอร์เน็ต ผลจากพัฒนาการก้าวกระโดดของอินเทอร์เน็ตทำให้ธุรกิจวิดีโอสตรีมมิ่งเติบโตรวดเร็ว โดยในปี 2010 บริการเช่าวิดีโออย่าง Netflix ถูกบันทึกว่าเป็นหนึ่งในบริการอินเทอร์เน็ตที่มีทราฟฟิกอินเทอร์เน็ตสูงที่สุดในสหรัฐฯ
 
ปี 2011 คือปีที่ธุรกิจหลักของ Netflix เปลี่ยนจากการเช่าแผ่นหนังทางไปรษณีย์มาเป็นวิดีโอสตรีมมิ่งแทน ผู้ใช้ Netflix สามารถชมภาพยนตร์ และซีรีส์ได้ในทุกที่ที่มีอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะดูผ่านสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต สมาร์ททีวี แอปเปิลทีวี (AppleTV) กล่องเซ็ตท็อปบ็อกซ์ (Set-top-box) เครื่องเกมคอนโซล หรือแม้แต่เครื่องเล่นบลูเรย์ ทุกอย่างไม่ต้องง้อเสา จาน หรือสายใดๆ ขณะเดียวกัน ผู้ชมไม่ต้องชมวิดีโอตามเวลาที่กำหนดไว้
 
คู่แข่งของ Netflix นั้นแฝงในหลายตลาด เจ้าพ่อไอทีอย่างแอปเปิลซึ่งเปิดให้ซื้อ-เช่าภาพยนตร์ผ่านไอจูนส์ (iTunes Store) และวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์อย่าง Apple TV ก็ถือเป็นคู่แข่งของ Netflix เช่นกัน ยังมียักษ์ใหญ่ค้าปลีกออนไลน์อย่างอเมซอนวิดีโอออนไลน์ (Amazon Video Online) ที่ต่อยอดบริการอีคอมเมิร์ซขายแผ่นภาพยนตร์เท่านั้น มาเป็นบริการขาย และเช่าไฟล์ภาพยนตร์แทน
 
นอกจากนี้ ขาใหญ่วงการอิเล็กทรอนิกส์อย่างโซนี่ (Sony) ซึ่งเป็นเจ้าของคอนเทนต์เพลง และภาพยนตร์มากมาย ก็เปิดบริการหนังเพลงออนไลน์ของตัวเองด้วย เช่นเดียวกับฮูลู (Hulu) บริการรายการทีวีออนไลน์ที่ช่องสถานีในสหรัฐฯ หลายแห่งลงขันกันสร้างจนได้รับความนิยมอย่างสูง ก็ถือเป็นคู่แข่ง Netflix แบบอ้อม
 
ที่น่าสนใจคือ ยูทิวบ์ (YouTube) ก็ถูกมองเป็นคู่แข่งของ Netflix เนื่องจากปัจจุบัน YouTube เริ่มพยายามซื้อสิทธิฉายเนื้อหาจากสตูดิโอภาพยนตร์เพื่อนำมาฉายบน YouTube เรียกว่าต่อยอดจากการเน้นวิดีโอที่ผู้ชมเป็นผู้ผลิตเองอย่างในอดีต
 
การแข่งขันดุเดือดทำให้ Netflix เปิดกลยุทธ์ปูพรมให้บริการในตลาดใหม่ 130 ประเทศทั่วโลก หนึ่งในนั้นเป็นประเทศไทยที่ Netflix เปิดให้บริการแล้วในราคาเริ่มต้น 280 บาท โดยนอกจากไทย Netflix จะเริ่มให้บริการในประเทศอินเดีย รัสเซีย ไนจีเรีย ซาอุดีอาระเบีย รวมถึงอีกหลายประเทศ แต่ยังไม่รวมประเทศจีน ซึ่งถือเป็นตลาดสำคัญระดับโลก
 
แม้จะยังไม่มีบริการในประเทศจีน แต่ Netflix เพิ่มภาษาจีนให้บริการแล้วเรียบร้อย ทำให้ปัจจุบัน Netflix รองรับ 17 ภาษาทั่วโลก แต่ยังไม่มีภาษาไทยสำหรับชาวไทย
 
สิ่งที่น่าสนใจหลังจาก Netflix เข้าสู่ตลาดไทย คือ การติดตามพฤติกรรมการชมวิดีโอออนไลน์ของคนไทยว่าจะยอมเสียเงินค่าชมอย่างถูกต้องหรือไม่ เนื่องจากคนไทยบางส่วนยังนิยมการชมภาพยนตร์ และซีรีส์จากแผ่นผี และการดาวน์โหลดผิดกฎหมาย ซึ่งในกรณีของ Netflix ละครซีรีส์ต่างๆ ล้วนยังไม่มีคำบรรยายไทยให้สมาชิกที่เสียเงินได้ชม แต่ในซีรีส์ที่ถูกเปิดให้โหลดเถื่อนนั้นมีคำบรรยายซับไทยเรียบร้อย
 
สู้ศึก 4 ด้าน
 
หากไม่นับ Netflix ประเทศไทยมีบริการวิดีโอออนไลน์แบบสมัครสมาชิกอยู่ 5 ค่ายหลักที่เปิดให้คนไทยได้ชมวิดีโอภาพยนตร์ และซีรีส์ผ่านระบบออนไลน์ช่วงก่อนหน้านี้ จุดนี้ “วรวิสุทธิ์ ภิญโญยาง” อดีตผู้บริหารบริการ Hollywood HDTV และ Primetime วิเคราะห์ว่า 5 ผู้ให้บริการวิดีโอออนไลน์ในไทยจะสู้กับ Netflix ใน 4 ด้าน ซึ่งบางด้านผู้เล่นในตลาดวิดีโอออนไลน์ไทยขณะนี้มีความเข้มแข็งมากกว่า Netflix
 
“ด้านที่ 1 คือคอนเทนต์ ใหม่เก่า เยอะน้อย ด้านที่ 2 คือ ประสบการณ์การดู ลื่นกระตุก เร็วช้า แอปใช้ง่ายยาก ด้านที่ 3 คือ ความสะดวกในการจ่ายเงิน และด้านที่ 4 คือราคา”
 
มุมคอนเทนต์ถือเป็นมุมที่มีช่องโหว่มากที่สุดของ “Netflix ประเทศไทย” เนื่องจากถูกมองว่ามีแต่ภาพยนตร์ และซีรีส์เก่า ซึ่งเป็นผลจากการเจรจาซื้อสิทธิเผยแพร่วิดีโอไม่ลงตัว ทำให้ภาพยนตร์ใหม่ และโด่งดังอย่าง The Hunger Games หรือ Transformer ไม่มีในสารบัญวิดีโอของ Netflix ขณะที่ซีรีส์ดังอย่าง House of Cards ก็ไม่เปิดให้บริการในประเทศไทยทั้งที่เป็นซีรีส์ที่ได้ชื่อว่า Netflix ลงทุนสร้าง เนื่องจาก Netflix ได้สิทธิเผยแพร่แบบสตรีมมิ่งแต่เพียงผู้เดียวเฉพาะในสหรัฐฯ โดยสิทธินอกสหรัฐฯ เป็นของโซนี่ พิกเจอร์ส (Sony Pictures)
 
“ส่วนตัวผมมองว่า Netflix อาจต้องมาทำละครไทยถึงจะขายได้ กับเอาซีรีส์เด็ดๆ ของตัวเองมา แต่ของเด็ดๆ ของ Netflix ก็อาจมีไม่กี่เรื่องที่คนไทยจะชอบ”
 
วรวิสุทธิ์ แสดงความเห็นว่า Primetime อาจเป็นบริการวิดีโอออนไลน์ในเมืองไทยที่จะไปได้ดีกว่าเจ้าอื่นทั้งหมด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฐานผู้ใช้เติบโตรวดเร็วเกิน 1 ล้านคนในเวลาไม่ถึงปี (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2015) ในขณะที่เจ้าอื่นมีแต่ภาพยนตร์เก่า และซ้ำกัน Primetime เป็นบริการเดียวที่ฉายภาพยนตร์ใหม่ปี 2015 แต่ผู้ชมจะต้องเสียค่าบริการเพิ่มต่อเรื่องราว 50 บาท (ราคาโปรโมชันขณะนี้)
 
ราคาสำหรับชมภาพยนตร์ใหม่ปี 2015 ของ Primetime นั้นถือว่าต่ำกว่าบริการอย่าง iTunes หรือ Google Play หลายเท่าตัว ยกตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง Ant-Man หรือ Inside Out ที่มีค่าใช้จ่ายราว 130 บาท
 
ภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ปี 2015 เหล่านี้ไม่มีแม้แต่เงาบน Netflix เช่นเดียวกับ Hollywood HDTV ที่มีให้บริการเฉพาะภาพยนตร์อายุมากกว่า 2-3 ปีขึ้นไป ขณะเดียวกัน ปริมาณวิดีโอประเภทละคร หรือซีรีส์ที่น้อย ทำให้ Hollywood HDTV อาจเป็นบริการที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
 
สำหรับภาพยนตร์ไทย Primetime มีบริการภาพยนตร์ GTH ซึ่งบริการคู่แข่งในไทยอย่าง iflix ไม่มี จุดนี้ทำให้ Primetime ดูมีภาษีกว่าเล็กน้อยแม้ iflix จะมีซีรีส์ดังที่ตัวเองลงทุนสร้างเหมือน Netflix และสารบัญภาพยนตร์ในบริการภาพยนตร์บุฟเฟต์สำหรับชมไม่อั้นนั้นจะมีภาพรวมอายุความเก่าของภาพยนตร์ที่คล้ายกัน
 
อีกบริการวิดีโอออนไลน์ในไทยที่มีจุดแข็งในศึกแข่งคอนเทนต์ต้องยกให้ดูหนังดอทคอม (doonung.com) เพราะแม้ดูหนังดอทคอมจะมีสารบัญภาพยนตร์ฮอลลีวูดน้อย แต่หากเทียบจำนวนผู้ใช้บริการ ดูหนังดอทคอมถือเป็นอีกหนึ่งบริการวิดีโอออนไลน์ที่ถือว่ามีผู้ใช้มากที่สุดในประเทศไทยขณะนี้ โดยสถิติจำนวนสมาชิกล่าสุดคือ 1 ล้านราย คาดว่าจะทะลุ 2 ล้านรายภายในสิ้นปี 2016
 
 
***ไม่ต้องฮอลลีวูด
 
ตัวเลขผู้ใช้ดูหนังดอทคอม 1 ล้านรายนี้สะท้อนว่าตลาดผู้ชมวิดีโอออนไลน์ไทยไม่ได้ตัดสินที่คอนเทนต์ฮอลลีวูด แต่อยู่ที่คอนเทนต์เอเชียด้วย จุดนี้ ปฐมพงศ์ สิรชัยรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท โมโน ฟิล์ม จำกัด ในเครือโมโน กรุ๊ป ให้ข้อมูลว่า 50% ของวิดีโอบนดูหนังดอทคอมมีสัญชาติจีน ญี่ปุ่น เกาหลี โดยจากภาพยนตร์ และซีรีส์ที่มีในมือหลักหมื่นเรื่องในขณะนี้ จะถูกเพิ่มขึ้นอีก 3,000-5,000 เรื่องเพราะการจับมือกับสหมงคลฯ
 
“ดูหนังดอทคอมกำลังจะเตรียมรีแบรนด์เป็น Monomaxxx ในช่วงปลายเดือนมกราคมนี้ แบรนด์ใหม่นี้จะมาพร้อมกับคอนเทนต์ใหม่ที่น่าสนใจกว่าเดิม ไม่ใช่คอนเทนต์โป๊ แต่เป็นคอนเทนต์ที่เชื่อว่าเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนทำงานมีครอบครัวอย่างที่ตั้งเป้าไว้ในช่วงแรก”
 
สำหรับศึกด้านที่ 2 อย่างประสบการณ์รับชม ปฐมพงศ์ ระบุว่า ดูหนังดอทคอมถูกพัฒนาให้สตรีมมิ่งวิดีโอแบบมัลติบิตเรท เพื่อให้การเล่นบนนานาอุปกรณ์สามารถทำได้ราบรื่น โดยขณะนี้ ภาพยนตร์ของดูหนังดอทคอมสามารถฉายบนสมาร์ททีวีได้ที่ความละเอียด 1080p แม้จะมีภาพยนตร์เก่าราว 15% ที่ภาพอาจไม่คมชัดเพราะต้นฉบับ
 
ก่อนหน้านี้ iflix เองก็เพิ่งเปิดตัวคุณสมบัติใหม่ให้ผู้ชมดาวน์โหลดวิดีโอมาชมแบบออฟไลน์ได้แบบไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ทำให้สมาชิก iflix กว่า 8.5 แสนคนในไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์สามารถเพลินกับวิดีโอเรื่องโปรดได้แม้ไม่มีอินเทอร์เน็ต ถือเป็นอีกจุดขายด้านประสบการณ์ดูวิดีโอที่ iflix เชื่อว่าจะเข้มแข็งยิ่งขึ้นในตลาดไทย
 
การชมวิดีโอออฟไลน์นั้นสามารถทำได้ผ่านบริการฮุค (Hooq) เช่นกัน บริการวิดีโอสั่งได้ที่เป็นผลจากการจับมือของสิงเทล วอร์เนอร์ บราเธอร์ส และโซนี่ พิคเจอร์ส เทเลวิชั่นนี้รองรับระบบจ่ายเงินที่รวมไปกับบิลค่าบริการเอไอเอสได้อย่างสะดวก ทำให้ผู้ใช้ Hooq ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องใช้หมายเลขบัตรเครดิตเพื่อใช้บริการเท่านั้น
 
กรณีนี้ถือว่าบริการวิดีโอออนไลน์ไทยมีแต้มต่อเหนือกว่า Netflix ในศึกที่ 3 อย่างความสะดวกการชำระเงิน เนื่องจากผู้ใช้ Netflix ในประเทศไทยจะต้องชำระเงินผ่านบัตรเครดิต และบัญชี Paypal เท่านั้น สวนทางกับชาวไทยผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ที่ไม่ได้จ่ายทางบัตร แต่มักชำระทาง counter service ที่ร้านสะดวกซื้อ ร้านหนังสือ และทางบิลค่าโทรศัพท์มือถือมากกว่า
 
ศึกที่ 4 อย่างราคา บนเว็บไซต์ www.netflix.com/th/ บริการวิดีโอออนไลน์อเมริกันอย่าง Netflix แบ่งราคาให้บริการออกเป็น 3 ระดับตามความละเอียดภาพที่ได้รับชม และจำนวนอุปกรณ์ที่สามารถชมได้พร้อมกัน โดย 280 บาท สามารถชมภาพชัดระดับ SD จาก 1 อุปกรณ์ ขณะที่ 350 บาท มีความคมชัดระดับ HD และชมได้จาก 2 อุปกรณ์พร้อมกัน โดยราคาสูงสุด คือ 420 บาท ที่ผู้ชมจะได้เพลินกับความคมชัดระดับ UHD จาก 4 อุปกรณ์พร้อมกัน
 
ราคาเริ่มต้น 280 บาทนี้ถือว่าสูงกว่าผู้ให้บริการในประเทศไทย เช่น Hollywood HDV ที่มีราคาเริ่มต้นที่ 199 บาทต่อเดือน บริการดูหนังดอทคอม ราคาเริ่มต้น 129 บาท บริการ Hooq ราคาเริ่มต้น 119 บาท บริการ iflix ราคา 100 บาทต่อเดือน และบริการ Primetime ราคาเริ่มต้น 99 บาท
 
อย่างไรก็ตาม ราคาเริ่มต้นเหล่านี้ถือว่าเป็นแพกเกจจำกัดที่เตรียมไว้สำหรับผู้เริ่มใช้บริการเท่านั้น เนื่องจากราคานี้จะมีข้อห้ามมากมายจนทำให้คอซีรีส์ หรือแฟนภาพยนตร์ที่ต้องการชมวิดีโอออนไลน์จริงจังมักจะเลือกซื้อแพกเกจ หรือจ่ายเพิ่มเพื่อชมวิดีโอได้หลากหลายกว่า จุดนี้ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า บางบริการอาจมีราคาใช้งานจริงที่แพงกว่า Netflix หากเทียบปริมาณการชมในระดับที่เท่ากัน
 
ทั้งหมดทั้งปวง “พฤติกรรมนิยมชมหนังฟรี” ของคนไทยส่วนใหญ่ยังเป็นประเด็นที่ท้าทายที่สุด ซึ่งหากค่ายใดสามารถทำให้คนไทย “เปิดใจจ่าย” ได้มากที่สุด ค่ายนั้นย่อมไม่ต้องนอนน้ำตาร่วงแน่นอน