รู้จัก “ปัญจลักษณ์พาสุข” โรงละครสตาร์ทอัพ ที่ผู้กำกับ GDH 559 ร่วมลงทุนเพียบ!

ด้วยภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทยที่ค่อนข้างลุ่มๆ ดอนๆ มาสักพักใหญ่แล้ว ทำให้ต้องฝากความหวังไว้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอยู่พอสมควร ที่จะนำพาเม็ดเงินเข้ามาให้ประเทศ เพราะในปีที่ผ่านมารายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็น 12% ของ GDP เลยทีเดียว
 
จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ “บริษัท ปัญจลักษณ์พาสุข จำกัด” เปิดตัวธุรกิจโรงละคร D’LUCK CINEMATIC THEATRE (ดีลักษณ์ ซีเนมาติก เธียเตอร์) ถือว่าเป็นโมเดลโรงละคร “สตาร์ทอัพ” แห่งแรก ที่ใช้วิธีการระดมทุนจากกลุ่มผู้ลงทุน และกลุ่มครีเอทีฟซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ตอนนี้มีผู้ลงทุนรวมเกือบ 100 ราย สามารถระดมทุนได้ 500 ล้านบาท
 
 
 
โรงละครแห่งนี้ทำเลตั้งอยู่ที่เมืองพัทยาเป็นแห่งแรก มีคอนเซ็ปต์ก็คือการแสดงสดที่ผสมผสานเทคนิคระดับโลกเข้ากับโรงภาพยนตร์ และละครเวที ไฮไลต์คือมีการแสดงโชว์ KAAN ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวและตัวละครในวรรณคดีไทย มีพื้นที่รวม 10 ไร่ ขนาดพื้นที่ทำการแสดงรวม 1,000 ตารางเมตร รองรับคนดูได้ 1,400 คน ส่วนทางด้านหน้าจะมีเป็น Community Mall ไว้สำหรับจัดกิจกรรม และมีร้านอาหารต่างๆ 
 
มีการใช้งบลงทุนรวม 1,000 ล้านบาท ซึ่งทำให้โรงละครนี้ต้องหาเงินระดมทุนเพิ่มเติมอีก 500 ล้านบาท โดยอาจจะใช้วิธีกู้ธนาคาร หรือหาพาร์ตเนอร์ โดยอาจจะมีเป็น “เนมมิ่งสปอนเซอร์” 1 ราย และเมนสปอนเซอร์อีก 8 รายภายในโรงละคร
 
 
ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปัญจลักษณ์พาสุข จำกัด กล่าวว่า “โรงละครเป็นอีกหนึ่งเดสติเนชั่นของนักท่องเที่ยวในหลายๆ ประเทศ แต่ในประเทศไทยยังพบช่องว่างอีกมาก ที่มีส่วนใหญ่จะรองรับสำหรับโลว์คอส ซึ่งเราเลือกทำเลที่พัทยาเป็นแห่งแรกก่อน เพราะมองว่าพัทยาต้องการคอนเทนต์ใหม่ๆ ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่ม ในอนาคตอยากทำเพิ่มอีก 3 ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และภูเก็ต แต่ต้องรอดูผลตอบรับ และพื้นที่อีกที”
 
ศิริวัฒน์เป็นหนึ่งในผู้ลงทุนใหญ่ในปัญจลักษณ์พาสุข ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นซีอีโอที่บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFEC บริษัทเกี่ยวกับด้านไอที ทำให้มีประสบการณ์ในการระดมทุน และได้เล่าเสริมว่าได้คิดโปรเจกต์นี้ร่วม 1 ปี และได้ทำการศึกษาดูงานจากโรงละครหลายเมือง เช่น นิวยอร์ก, ลาสเวกัส, ลอสแองเจลิส, มาเก๊า และสิงคโปร์ เพื่อสร้างโปรเจกต์นี้ขึ้นมา
 
 
 
ที่น่าสนใจก็คือโรงละครนี้มีผู้ถือหุ้นโดยบุคคลากรจากฝั่ง “แกรมมี่” ค่อนข้างเยอะ ทีมงานผลิตก็ได้ทีมสนุกดีทวีสุข และ Scenario มาดำเนินงาน ทางด้านฝ่ายการตลาด และฝ่ายขายก็ได้ทีมจาก Good Thing Happen มาช่วยขายโฆษณาให้ รวมไปถึงการถือหุ้นของผู้กำกับของค่าย GDH 559 ได้แก่ ยงยุทธ ทองกองทุน, ปวีณ ภูริจิตปัญญา, จินา โอสถศิลป์ เป็นต้น ซึ่งเป็นการถือโดยส่วนบุคคลทั้งสิ้น
 
ทาง “จีนา” ได้เคยให้ความเห็นว่า เห็นโอกาสของธุรกิจโรงละครนี้เพราะเติบโตไปกับการท่องเที่ยวเหมือนภูเก็ตแฟนตาซีทีเป็นที่นิยมและติดตลาดไปแล้ว แต่โรงละครนี้เป็นคอนเซ็นปต์ใหม่น่าจะแจ้งเกิดได้ เมื่อลงทุนและได้กำไรจากโรงละครนี้ ก็อาจจะเอามาลงทุนกับที่ GDH 559 ต่อก็ได้ เหมือนเป็นการบาลานซ์ความเสี่ยงกัน 
 
ราคาบัตรเข้าชมอาจจะอยู่ในช่วงราคา 2,000-3,000 บาท เพราะต้องการตีตลาดกลุ่มพรีเมียม ซึ่งเป็นราคาที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับโรงละครประเทศอื่นๆ
 
โรงละครจะได้ฤกษ์เปิดช่วงเดือนธันวาคมปี 2559 สำหรับเป้าหมายในปีแรก เป็นลูกค้าคนไทย 70% ก่อน และมีรายได้ 700-800 ล้านบาท