ปรับครั้งใหญ่! “ไอ-โมบาย” ปั้นแบรนด์ Open จับค้าปลีกมาเจอกับ Non-Mobile

ท่ามกลางการแข่งขันของตลาดสมาร์ทโฟนที่ทวีความดุเดือดขึ้นทุกวัน อีกทั้งฟากฝั่งของโอเปอเรเตอร์ก็หันมาจับตลาดทำสมาร์ทโฟนเฮาส์แบรนด์ของตนเอง ทำให้ “ไอ-โมบาย” ที่เคยเติบโตมากับตลาดนี้จำเป็นต้องหาจุดยืนของตัวเองเสียใหม่เหมือนกัน ในช่วงที่ผ่านมานี้จึงไม่ค่อยได้เห็นความเคลื่อนไหวของไอ-โมบายมากเท่าที่ควร
 
แต่ในปีนี้ถือเป็นบิ๊กมูฟครั้งสำคัญของสามารถ ไอ-โมบายในการที่ก้าวเท้าออกจากธุรกิจโทรศัพท์มือถือเพียงอย่างเดียว แต่รุกธุรกิจ Non-Mobile มากขึ้น เพื่อวางคอนเซ็ปต์ของแบรนด์ให้เป็น Digital Living พร้อมทั้งได้แม่ทัพคนใหม่ที่เป็นเจ้าพ่อวงการค้าปลีก “จักรกฤช จารุจินดา” อดีตกรรมการผู้จัดการบริษัท ปตท.บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด ขึ้นแท่นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. สามารถ ไอ-โมบาย ที่ได้มานั่งเก้าอี้ 3 เดือนแล้ว
 
 
การบ้านชิ้นแรกที่จักรกฤชได้รับมอบหมายให้ทำก็คือการ “พลิกโฉม” ไอ-โมบาย เพื่อให้เป็นที่รับรู้ของผู้บริโภคมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาแบรนด์ค่อนข้างเงียบ และมีภาพลักษณ์ที่เป็นสมาร์ทโฟนราคาถูก การพลิกเกมของจักรกฤชจึงเริ่มต้นจากงานถนัดก่อนเพื่อนเลยก็คือเรื่อง “ค้าปลีก” ขยายจากโทรศัพท์มือถือสู่สินค้าและบริการอื่นๆ เพื่อสร้างโอกาสในการหารายได้เพิ่มขึ้น และให้แบรนด์ใกล้ชิดผู้บริโภค
 
จึงเปิดร้านค้าปลีกในชื่อ “Open Shop” ร้านไลฟ์สไตล์ที่รวมทั้งโทรศัพท์มือถือ แกดเจ็ต และแตกแบรนด์ย่อยเป้นสินค้าและบริการอีก ได้แก่ O’Life ชุดกีฬา O’Fix ศูนย์ซ่อมมือถือทุกยี่ห้อ O’Pay รับชำระบิลค่าสินค้าและบริการ O’Money บริการโอนเงินต่างประเทศ ผ่านบัตรเติมเงินมือถือ O’café ร้านกาแฟ และ O’Top Up ตู้เติมเงิน 
 
ในช่วงแรกจะทยอยปรับเปลี่ยนจากชอปของไอ-โมบายที่มี 30 สาขา เป็น Open Shop ภายในสิ้นปีนี้ และจะขายแฟรนไชส์อีก 30 สาขา
 
 
“จริงๆ ธุรกิจนี้เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ท้าทาย โจทย์แรกที่ได้มาก็คือ ไอ-โมบายถึงเวลาในการปรับภาพลักษณ์แล้ว จึงเข้ามาพลิกโฉมให้ใหม่ เลยมองว่าค้าปลีกเป็นส่วนที่ง่ายที่สุด เพราะทำแล้วได้เงินเลย จึงเอามาเสริมให้ไอ-โมบาย ตอนนี้ถือว่าได้กำหนดทิศทางมาชัดเจนแล้ว เพียงแต่อาจจะอยู่ในการทดลองตลาด จะต้องมีการปรับเปลี่ยนระหว่างทางเรื่อยๆ ในอนาคตจะมีการรีแบรนด์ให้ไอ-โมบายด้วย เพื่อสลัดภาพของแบรนด์โทรศัพท์มือถืออย่างเดียว แต่อาจจะอีกสักพัก ต้องรอเวลาที่เหมาะสมก่อน” จักรกฤชกล่าวถึงความท้าทายในเก้าอี้ใหม่
 
ทำให้โครงสร้างของธุรกิจของสามารถ ไอ-โมบายเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน เหลือเพียงแค่ 2 ธุรกิจหลักก็คือ โมบายล์ และนอน-โมบายล์ ซึ่งธุรกิจนอน-โมบายล์ได้รวมธุรกิจดิจิทัล คอมเมิร์ซ และร้าน Open Shop ล่าสุดได้เข้าไปซื้อธุรกิจ Phoinikas ทำธุรกิจดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง เพื่อเสริมศักยภาพตรงนี้มากขึ้น จากเดิมที่บริษัทแบ่งออกเป็น 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจโมบายล์, มัลติมีเดีย และบริการเครือข่าย
 
สำหรับทิศทางของธุรกิจโมบายล์ หรือโทรศัพท์มือถือ จะมีการออกจำนวนรุ่นน้อยลง จากที่ 2 ปีก่อนมีการออกเฉลี่ยปีละ 47 รุ่น แต่ปีนี้จะออกเพียงแค่ 10 รุ่นเท่านั้น ในระดับราคาไม่เกิน 7,000 บาท วางจุดยืนให้อยู่ในระดับกลาง และใช้กลยุทธ์เจาะตลาดพิเศษเฉพาะกลุ่ม อย่างเช่น กลุ่มคนฟังเพลง กลุ่มคนดูหนัง จะไม่ได้จับกลุ่มแมสอีกต่อไป และจับกลุ่มเป้าหมายที่เด็กลงให้อยุ่อายุ 25 ปีขึ้นไป
 
รายได้ของสามารถ ไอ-โมบายในปี 2558 มีจำนวน 7,000 ล้านบาท ในปีนี้ตั้งเป้ารายได้รวม 8,000 ล้านบาท เติบโต 10% แบ่งเป็นโมบายล์ 6,500 ล้านบาท และนอน-โมบายล์ 1,500 ล้านบาท หรือในสัดส่วน 80 : 20 ภายใน 3 ปีตั้งเป้าสัดส่วนรายได้เป็น 50 : 50 และจะต้องมีรายได้มากกว่า 15,000 ล้านบาท