“ศุภชัย เจียรวนนท์” เผยลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน “ยาก-เสี่ยงสูง” ย้ำต้องการ “พัฒนา” มากกว่าแค่ “การลงทุน”

หลังจาก กลุ่มซีพี ได้ไฟเขียวคว้า บิ๊กโปรเจกส์  โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ บอร์ดอีอีซี เตรียมเสนอ คณะรัฐมนตรี ครม.อนุมัติ ในวันที่ 28 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้

แน่นอนว่า โปรเจกส์ใหญ่ยักษ์ขนาดนี้ ย่อมทำให้ กลุ่มซีพี ถูกจับตามองว่า จะได้ผลประโยชน์มากแค่ไหน

ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ใช้โอกาสในการประชุมสัมมนา เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งมีผู้บริหารระดับสูงจากกลุ่มธุรกิจต่างๆจากทุกประเทศทั่วโลกกว่า 400  คนเข้าร่วมประชุม จัดขึ้นสถาบันพัฒนาผู้นำ เครือเจริญโภคภัณฑ์ จ.นครราชสีมา กล่าวถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ว่า โครงการดังกล่าวเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยง และได้รับผลตอบแทนในอัตราที่ไม่สูง

แต่เหตุผลสำคัญที่เครือฯสนใจและเข้าไปลงทุน เนื่องจากเป็นโครงการพัฒนาที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน และสังคม ที่เครือยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ

“ถึงแม้จะยาก มีความเสี่ยงสูง แต่เครือซีพีต้องใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ และดึงคนเก่งๆจากทั่วโลกมาช่วยกันทำให้สำเร็จ เพราะโครงการนี้ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานแรกของภูมิภาคอาเซียน และเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง หรือ HUB  ของอาเซียน และยังส่งเสริมประเทศเพื่อนบ้านในแถบ CLMV ให้เติบโตไปพร้อม ๆ กันแบบยั่งยืนได้อีกด้วย”

ซีอีโอ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ชี้ให้เห็นว่ารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนั้น เป็นหัวใจสำคัญที่ก่อให้เกิดการพัฒนาเมือง ซึ่งจะกระจายความเจริญทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สู่ทุกชุมชน และคนไทยทั้งประเทศจะได้ประโยชน์จากการเข้ามาลงทุนจากต่างประเทศ และการนำความรู้มาพัฒนาคน สร้างงานในยุค 4.0

ดังนั้นประเด็นสำคัญของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คือ การพัฒนา ซึ่งมีความหมายมากกว่าการลงทุน เป็นโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชน

ศุภชัย ยังได้กล่าวถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมที่ต้องดำเนินคู่กันไป ว่าจะเป็นเรื่องของพลังงานทางเลือก การจัดการขยะพลาสติก และปิดท้ายด้วยการตั้งเป้าหมายสู่การเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญต่อการชดเชยคาร์บอนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้ลดลงทุกปีและเข้าสู่ศูนย์(zero net carbon emissions)ในปี 2030